คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 91/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 24 ทวิ กำหนดให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้ทันภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม และในกรณีเกิดความจำเป็นให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไป ได้อีกคราวละไม่เกินสิบห้าวัน เฉพาะคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้องกี่คราวก็ได้ และตามมาตรา 24 จัตวา ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ เมื่อปรากฏว่า คดีนี้เป็นคดีมีโทษสถานที่หนักซึ่งจะขอผัดฟ้องกี่คราวก็ได้ และพนักงานสอบสวนได้ขอผัดฟ้องไว้เป็นครั้งที่ 5 แล้วต่อมาได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยไป หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็มิได้มาขอผัดฟ้องต่อไปอีก จนกระทั่งอีกประมาณ 3 เดือนต่อมา พนักงานอัยการจึงได้นำคดีมาฟ้อง ดังนี้ คดีโจทก์ขาดการผัดฟ้องถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 ทวิ ซึ่งโจทก์จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการตามมาตรา 24 จัตวา จึงจะมีอำนาจฟ้องคดีได้ โจทก์จะอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 141 มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนมีบทบัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายนันท์กับนายสมชัยโดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกบุคคลทั้งสอง และจำเลยมีอาวุธปืนสั้นใช้ยิงได้ ๑ กระบอก ไม่มีเลขหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานไว้ในความครอบครอง โดยจำเลยไม่มีในขออนุญาตของนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยพาอาวุธติดตัวไปในทางสาธารณะโดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควร และมิใช่กรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๘๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯลฯ ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ที่ถูกเป็นคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) ฉบับที่ ๔๔
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์ฟ้อง เห็นว่า ต้องให้อธิบดีกรมอัยการอนุญาตให้ฟ้อง มีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๒๔ ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๘ กำหนดให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้ทันภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม และในกรณีเกิดความจำเป็นให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินสิบห้าวัน เฉพาะคดีซึ่งมีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจะสั่งอนุญาตให้ผัดฟ้องกี่คราวก็ได้ และตามมาตรา ๒๔ จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๘ ห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวิ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ คดีนี้เป็นคดีมีโทษสถานที่หนักซึ่งจะขอผัดฟ้องกี่คราวก็ได้ แต่ตามสำนวนปรากฏว่าเมื่อพนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องไว้เป็นครั้งที่ ๕ นับแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ ถึงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาไปเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๐ หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการก็มิได้มาขอผัดฟ้องต่อไปอีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๑ พนักงานอัยการโจทก์จึงได้นำคดีมาฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าคดีโจทก์ขาดการผัดฟ้อง ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔ ทวิ กรณีของโจทก์จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการตามมาตรา ๒๔ จัตวา จึงจะมีอำนาจฟ้องคดีได้ โจทก์จะอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนมีบทบัญญัติบังคับไว้โดยเฉพาะแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share