คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ในคดีก่อนจำเลยเบิกความโดยเชื่อและสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้ลักเอาทรัพย์ไป เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีโจทก์และจำเลยอยู่ในบ้านพักจำเลยเพียง 2 คน แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยหลงลืมสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองที่อ้างว่าได้หายไปไว้ที่บ้าน ร. โดยในวันรุ่งขึ้นจำเลยทราบทางโทรศัพท์จาก บ. และจำเลยไปรับทรัพย์ของจำเลยที่อ้างว่าได้หายไปคืนจาก บ. จากนั้นจำเลยก็ไปแจ้งให้พนักงานสอบสวนบันทึกเรื่องการได้รับทรัพย์คืนไว้เป็นหลักฐานในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังไปขอโทษโจทก์และเป็นผู้ประกันตัวโจทก์ในระหว่างสอบสวน ต่อมาจำเลยก็พยายามบรรเทาผลร้ายดังกล่าวด้วยการเสนอชดใช้ค่าทำขวัญเป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เรียกร้องเป็นเงินถึง 600,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยเข้าใจโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลยไป แม้หลังจากจำเลยรู้ความจริงแล้ว จำเลยมิได้ถอนคำร้องทุกข์ดังที่โจทก์ฎีกา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยรู้ว่าคดีนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้จึงไม่เป็นข้อพิรุธ ทั้งในคดีก่อนศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยว่าจำเลยปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จโดยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอด่านซ้ายว่า โจทก์ลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ 2 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทอง 4 องค์ รวมราคาทั้งสิ้น 150,000 บาท ของจำเลยที่วางไว้ที่ชั้นวางของหน้าห้องน้ำชั้นบนในบ้านพักจำเลยภายในบริเวณแขวงการทางเลย ที่ 2 ด่านซ้าย ซึ่งความจริงแล้ว จำเลยลืมทรัพย์ดังกล่าวไว้ที่บ้านพักผู้มีชื่อที่ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์มิได้ลักทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษฐานลักทรัพย์ ต่อมาโจทก์ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเลยฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 1097/2541 จำเลยเบิกความเป็นพยานพนักงานอัยการโจทก์ ยืนยันตามคำร้องทุกข์ดังกล่าวว่า โจทก์ลักทรัพย์ของจำเลย ซึ่งความเท็จที่เบิกความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ในที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องตามคดีหมายเลขแดงที่ 4994/2541 และคดีถึงที่สุดแล้ว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 137, 172, 174 วรรคสอง, 177 และ 181 (1)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่ความตาย นายวินัย ทิพย์โสด ผู้สืบสันดาน ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 (1) จำคุก 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 (1) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จหรือไม่ เห็นว่า แม้ในคดีก่อนจำเลยเบิกความตามบันทึกคำให้การพยานโจทก์ยืนยันว่า วันเกิดเหตุจำเลยถอดสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท 1 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทอง 1 องค์ กับสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท อีก 1 เส้น พร้อมพระเลี่ยมทอง 3 องค์ วางไว้ที่ชั้นวางของหน้าห้องน้ำชั้นบนบ้านพักจำเลย แล้วจำเลยเข้าไปอาบน้ำในห้องน้ำ ระหว่างนั้นจำเลยได้ยินเสียงก๊อกแก๊กบริเวณชั้นวางของหน้าห้องน้ำดังกล่าว หลังจากจำเลยอาบน้ำเสร็จและออกจากห้องน้ำแล้ว ไม่พบโจทก์ แต่พบว่าทรัพย์ของจำเลยดังกล่าวได้หายไป จำเลยจึงเชื่อและสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้ลักเอาไป เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีโจทก์และจำเลยอยู่ในบ้านพักจำเลยเพียง 2 คน แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน จำเลยหลงลืมสร้อยคอทางคำพร้อมพระเลี่ยมทองที่อ้างว่าได้หายไปไว้ที่บ้านนางสาวรัตนาหรือรัชตนาภาหรือรัตนาภา น้อยดา อยู่ที่ตำบลนาแห้ว อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย โดยในวันรุ่งขึ้นจำเลยทราบทางโทรศัพท์จากนางสาวบังอร ษรจันทร์ ลูกจ้างชั่วคราวหมวดการทางนาแห้ว และจำเลยไปรับทรัพย์ของจำเลยที่อ้างว่าได้หายไปคืนจากนางสาวบังอรจากนั้นจำเลยก็ไปแจ้งให้พนักงานสอบสวนบันทึกเรื่องการได้รับทรัพย์คืนไว้เป็นหลักฐานในวันเดียวกัน ทั้งจำเลยยังไปขอโทษโจทก์และเป็นผู้ประกันตัวโจทก์ในระหว่างสอบสวน ต่อมาจำเลยก็พยายามบรรเทาผลร้ายดังกล่าวด้วยการเสนอชดใช้ค่าทำขวัญเป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เรียกร้องเป็นเงินถึง 600,000 บาท จึงตกลงกันไม่ได้ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยเข้าใจโจทก์คลาดเคลื่อนไปจากความจริง จึงมิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นคนร้ายลักทรัพย์ของจำเลยไป แม้หลังจากจำเลยรู้ความจริงแล้ว จำเลยมิได้ถอนคำร้องทุกข์ดังที่โจทก์ฎีกา ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยรู้ว่าคดีนั้นเป็นความผิดต่อแผ่นดินไม่อาจถอนคำร้องทุกข์ได้จึงไม่เป็นข้อพิรุธ ทั้งในคดีก่อนศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยว่าจำเลยปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำกล่าวหาโจทก์และคำเบิกความของจำเลยไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share