แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงจะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องและสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้อง คดีนี้เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้อง การแต่งทนายความก็ไม่ถูกต้องไปด้วย ทนายความผู้นั้นจึงไม่มีอำนาจทำการแทนในฐานะทนายความของโจทก์ ซึ่งเท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องเสียทีเดียวเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแล้ว โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งโจทก์เองก็ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปโดยได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องไว้ก่อนแล้วแต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต แสดงว่าโจทก์พอใจในคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อจัดการให้มีการลงลายมือชื่อโจทก์ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 84364 และ 84365 ตำบลวังทองหลาง อำเภอวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและนัดพร้อมเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับลายมือชื่อของผู้รับมอบอำนาจโจทก์
ต่อมาในวันนัดพร้อมศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าลายมือชื่อในใบแต่งทนายความและหนังสือมอบอำนาจ มิใช่ลายมือชื่อของนางอนุษยา ปาณลักษณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงทำให้นายยุทธการ เมฆ ไม่สามารถเป็นทนายความได้ ดังนั้น การที่นายยุทธการลงลายมือชื่อในคำฟ้อง ถือว่าไม่มีลายมือชื่อคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) ประกอบมาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นการสั่งโดยผิดหลง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจากเดิมที่มีคำสั่งรับคำฟ้อง เป็นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นฟังว่า ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ของนางอนุษยา ปาณลักษณ์ โดยไม่เรียกนางอนุษยา มาสอบถามนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ในทางไต่สวนให้ได้ความจริงดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นว่าจะเรียกพยานมาสอบถามเพียงไรและคดีได้ความว่า นายยุทธการ เมฆ ผู้ทำหน้าที่ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องลงวันที่ 27 มกราคม 2546 ระบุว่า ลายมือชื่อผู้ร้บมอบอำนาจ และลายมือชื่อผู้แต่งทนายความในใบแต่งทนายความไม่ใช่ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจและในวันนัดพร้อมที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 นายยุทธการก็แถลงยืนยันว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและใบแต่งทนายความไม่ใช่ลายมือชื่อของนางอนุษยา ผู้รับมอบอำนาจกับได้มีนางธาริณี สาดและแถลงว่า นางธาริณีเป็นพี่สาวของผู้รับมอบอำนาจ ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและใบแต่งทนายความเป็นของนางธาริณีไม่ใช่ของนางอนุษยา ดังนี้ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและใบแต่งทนายความไม่ใช่ของนางอนุษยา จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อไปที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ศาลชอบที่จะสั่งให้แก้ไขเสียก่อนนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อน หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจึงจะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับฟ้องและสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้อง คดีนี้เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้อง การแต่งทนายความก็ไม่ถูกต้องไปด้วย ทนายความผู้นั้นจึงไม่มีอำนาจทำการแทนในฐานะทนายความของโจทก์ ซึ่งเท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฟ้องเสียทีเดียวเป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ดีเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแล้ว โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้น ทั้งโจทก์เองก็ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปโดยได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องไว้ก่อนแล้วแต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต แสดงว่าโจทก์พอใจในคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อจัดการให้มีการลงลายมือชื่อโจทก์ให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน