แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เคยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในคดีก่อน แต่โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์แล้วโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
นอกจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมที่มีต่อจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยชอบแล้ว จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่วินิจฉัยว่า ปรส. มีอำนาจในการขายสินทรัพย์จนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว แม้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและไม่สืบพยาน
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 9334/2544 และที่ 10359/2545 รวม 2 คดี ให้จำเลยกับพวกชำระหนี้แก่โจทก์ ยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 431,246,765.20 บาท โจทก์ตีราคาหุ้นที่จำเลยจำนำเป็นหลักประกันเป็นเงิน 21,000,000 บาท เมื่อนำไปหักจากยอดหนี้ถึงวันฟ้อง คงเหลือหนี้ซึ่งอาจกำหนดได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยต้องข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) โจทก์เคยฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายต่อศาลล้มละลายกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ 504/2546 หมายเลขแดงที่ 1907/2546 ซึ่งศาลกำหนดวันนั่งพิจารณาในวันที่ 28 ตุลาคม 2546 โจทก์ทราบนัดโดยชอบแต่ไม่ไปศาลในวันนัด ศาลบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ขาดนัดพิจารณาและไม่มีพยานมาสืบให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1907/2546 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 1907/2546 โจทก์ไม่ไปศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ เป็นการขาดนัดพิจารณา และไม่ปรากฏว่าจำเลยติดใจดำเนินคดีต่อไป แม้ศาลล้มละลายกลางจะได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ แต่ศาลก็มีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องคดีดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีโดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการต่อไปว่า ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความจริงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา และหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ชอบหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในฐานะผู้ซื้อแทนเอเอสโอ ไอ (เดลาแวร์) แอล.แอล.ซี. ผู้ชนะการเสนอราคาในการขายของ ปรส. การซื้อขายดังกล่าวขัดต่อพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เพราะโจทก์มิได้เข้าประมูลโดยเปิดเผยหรือแข่งขันราคาตามวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด สัญญาซื้อขายดังกล่าวตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า สำหรับคดีนี้ที่โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ทั้งสองคดีดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย นอกจากจำเลยจะไม่ยื่นคำให้การและไม่สืบพยาน ยังได้ความจากพยานโจทก์ปากนางศิริพร วงศ์ชะอุ่ม ว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ที่มีต่อจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับ ปรส. และพยานปากนี้เบิกความตอบคำถามติงได้ความว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนตามระเบียบของ ปรส. ที่ระบุว่าหากผู้ประมูลต้องการให้บุคคลอื่นซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แทนให้ออกหนังสือค้ำประกันที่ไม่อาจเพิกถอนได้ให้ ปรส. ซึ่งผู้ประมูลได้ คือ เอเอสโอ ไอ (เดลาแวร์) แอล.แอล.ซี. ได้ทำหนังสือค้ำประกันยื่นต่อ ปรส. แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เข้าซื้อหนี้สินตามสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับ ปรส. แทนผู้ประมูลได้ ดังนี้ นอกจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจะรับฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับ ปรส. โดยชอบแล้ว จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ทั้งสองคดีดังกล่าวที่วินิจฉัยว่า ปรส. มีอำนาจในการขายสินทรัพย์จนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสียอีกด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติข้างต้นว่า จำนวนหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ทั้งสองคดีคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 431,246,765.20 บาท และโจทก์ตีราคาหุ้นที่จำเลยจำนำเป็นหลักประกันเป็นเงิน 21,000,000 บาท ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความจริงว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาหนี้ดังกล่าวและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยประการสุดท้ายว่า มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า หนี้ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้คดีหมายเลขแดงที่ 9334/2544 เอกสารหมาย จ.19 ขาดอายุความแล้ว จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาคดีดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กรณีถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย เห็นว่า คำพิพากษาของศาลคดีดังกล่าวได้วินิจฉัยด้วยว่าคดีไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ซึ่งจำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ยังไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน