คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1357/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 มาตรา 45ให้ถอนใบอนุญาตของจำเลยในฐานะเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์เพราะกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินั้นหลายประการ แต่จำเลยก็ได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้นตามมาตรา 59 แล้ว ในขณะที่ยังไม่มีคำสั่งที่ถึงที่สุดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนดำรงกิจการดำเนินการเปิดสอนและไม่ปฏิบัติหน้าที่รวบรวมหลักฐานส่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 มาตรา 43, 48, 52

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้จัดการโรงเรียนราษฏร์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2515 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งอนุมัติให้ผู้ว่าราชการจังหวัดถอนใบอนุญาตของจำเลยในฐานะเป็นเจ้าของโรงเรียนนั้นเสีย เพราะกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฏร์ พ.ศ. 2497 หลายประการ ต่อมาเจ้าพนักงานได้มีหนังสือลงวันที่ 11 กันยายน 2515 และลงวันที่ 25 กันยายน 2515แจ้งให้จำเลยทราบว่าผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งถอนใบอนุญาตของจำเลยในฐานะเจ้าของโรงเรียนราษฏร์นั้น จำเลยทราบคำสั่งแล้วยังฝ่าฝืนดำรงกิจการดำเนินการเปิดสอนนักเรียนอีกตลอดมาจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน2515 และเมื่อระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2515 เวลากลางวันกลางคืนต่อเนื่องกัน ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2515 จำเลยทราบคำสั่งเป็นหนังสือของเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่แจ้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ถอนใบอนุญาตของจำเลยในฐานะเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์แล้ว จำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการโรงเรียนราษฎร์นั้น มีหน้าที่ต้องรวบรวมหลักฐานแห่งผลการสอบซ้อม ผลการสอบไล่ และใบสุทธิ พร้อมด้วยทะเบียนนักเรียน บัญชีเรียกชื่อนักเรียน สมุดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนส่งต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 7 วัน แต่จำเลยกลับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามโดยปราศจากเหตุที่จะอ้างตามกฎหมายได้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฏร์ พ.ศ. 2497 มาตรา 43, 48, 52ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514

จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าแม้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องโจทก์การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นผิด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์จำเลยแล้ว จำเลยรับว่าจำเลยได้รับทราบคำสั่งถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2515 จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2515 จำเลยเพิ่งทราบผลการอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2516 ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยเสีย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีคำสั่งให้ถอนใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฏร์ พ.ศ. 2497มาตรา 59 ผู้ถูกถอนใบอนุญาตย่อมอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน ฉะนั้น ระหว่างที่รอฟังคำสั่งอยู่นั้น จะกล่าวโทษว่าจำเลยกระทำผิดไม่ได้ เพราะคำสั่งยังไม่ถึงที่สุด คดีนี้จำเลยทราบคำสั่งให้ยกอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2516 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยแล้ว ขณะที่ยื่นฟ้องโจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยพิพากษาให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีต้องด้วยพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฏร์พ.ศ. 2497 มาตรา 59 ต้องถือว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตามมาตรา 45 นั้น ยังไม่ถึงที่สุด เพราะจำเลยซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว คดีได้ความตามพยานเอกสารที่คู่ความส่งอ้างว่าปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย และคำสั่งดังกล่าวได้แจ้งผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยได้รับทราบคำสั่งของปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ตามหนังสือของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชที่ นศ.51/359 ลงวันที่ 15 มกราคม 2516 (เอกสารหมาย ล.1) จำเลยแถลงว่าจำเลยได้รับทราบหนังสือเอกสารหมาย ล.1 นี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม2516 คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2515จึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตั้งแต่ก่อนที่จำเลยจะได้ทราบคำสั่งของปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงเท่ากับว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยตั้งแต่ขณะที่ยังไม่มีคำสั่งที่ถึงที่สุดของรัฐมนตรี ฉะนั้นในขณะที่ฟ้องคดีนี้โจทก์จึงยังหามีอำนาจฟ้องไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share