แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำโดยเจตนาในทางอาญาและการกระทำโดยจงใจในทางแพ่งมีความหมายทำนองเดียวกัน กล่าวคือ การกระทำโดยเจตนาในทางอาญา หมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ส่วนการกระทำโดยจงใจในทางแพ่ง หมายถึง กระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตนหรืออีกนัยหนึ่งคือ กระทำโดยรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น อันมีความหมายกว้างกว่าการกระทำโดยเจตนาในทางอาญา การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีนี้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟัง ได้แต่เพียงว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้สอบถามและแสดงกิริยาในลักษณะไม่นอบน้อมอย่างเพียงพอต่อ ป. ลูกค้าของโรงแรมของจำเลยที่ 1 ทำให้ ป. ไม่พอใจตัวโจทก์ ซึ่งไม่ปรากฏโจทก์กระทำไปโดยเจตนาจะให้เกิดความเสียหายแก่โรงแรมของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่า โจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางนำเอาข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติแล้วมาปรับข้อกฎหมาย โดยหยิบยกเอาการกระทำของโจทก์ว่าไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงแรมของจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุผลประกอบในการวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเท่านั้น มิได้วินิจฉัยคดีโดยการนำเรื่องเจตนาในทางอาญามาปรับใช้แก่คดีแรงงาน คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 39,431.67 บาท ค่าชดเชย 120,300 บาท ค่าเสียหาย 481,200 บาท และให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ 24,569.15 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์สอบถามชื่อจากนายประชาเป็นการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่านายประชาเป็นใคร เนื่องจากโจทก์ไม่รู้จักนายประชามาก่อน และการที่โจทก์นั่งลงที่เก้าอี้ก็เพื่อตรวจสอบกับคอมพิวเตอร์ว่านายประชาเป็นผู้ใดนั้น ล้วนเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของโจทก์ แต่การแสดงกิริยาไม่นอบน้อมอย่างเพียงพอต่อลูกค้าของจำเลยที่ 1 ตามหน้าที่ที่โจทก์พึงปฏิบัติ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสอดคล้องกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลเพียงพอ และไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์มิใช่การจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย มิใช่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคบเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีร้ายแรงตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 120,300 บาท เมื่อโจทก์ไม่ได้จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรงหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง อันเป็นข้อยกเว้นที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์ผู้เป็นสมาชิกแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่โจทก์ตามฟ้องเป็นเงิน 24,569.15 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 120,300 บาท ให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 24,569.15 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การกระทำโดยเจตนาในทางอาญาและการกระทำโดยจงใจในทางแพ่งมีความหมายทำนองเดียวกัน กล่าวคือ การกระทำโดยเจตนาในทางอาญา หมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ส่วนการกระทำโดยจงใจในทางแพ่ง หมายถึง กระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตน หรืออีกนัยหนึ่งคือ กระทำโดยรู้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น อันมีความหมายกว้างกว่าการกระทำโดยเจตนาในทางอาญา การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีนี้ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้แต่เพียงว่าโจทก์ได้สอบถามและแสดงกิริยาในลักษณะไม่นอบน้อมอย่างเพียงพอต่อนายประชา ทำให้นายประชาไม่พอใจตัวโจทก์ ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำไปโดยเจตนาจะให้เกิดความเสียหายแก่โรงแรมของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางนำเอาข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติแล้วมาปรับข้อกฎหมาย โดยหยิบยกเอาการกระทำของโจทก์ว่าไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงแรมของจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุผลประกอบในการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเท่านั้น มิได้วินิจฉัยคดีโดยการนำเรื่องเจตนาในทางอาญามาปรับใช้แก่คดีแรงงานตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวจึงไม่คลาดเคลื่อนต่อกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.