คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3097/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลายมือชื่อผู้แทนจำเลยที่ 2 ในช่องผู้ค้ำประกันคือลายมือชื่ออันแท้จริงของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน จึงเชื่อได้ว่าผู้ที่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ลงในช่องผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันคือ จำเลยที่ 6 มีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประทับตราสำคัญดังกล่าวเอง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าตราสำคัญที่นำมาประทับดังกล่าวมิใช่ตราสำคัญที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อปัดความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้
การที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ และให้โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 โดยชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนนั้น เป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทหนึ่งของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้ดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือรับทำการงานต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่ จึงไม่อาจนำเอาอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีได้ และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิจากโจทก์ไปรับสินค้าก่อน แล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ในภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความโดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
สัญญาทรัสต์รีซีทในข้อ 4 ได้ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีทมิได้กำหนดจำนวนดอกเบี้ยไว้แน่นอนตายตัว ดอกเบี้ยในข้อ 4 นี้ ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาต่อโจทก์ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวในข้อ 7 กลับระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ตามข้อสัญญาดังกล่าวย่อมหมายความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จสิ้นโดยต้องย้อนไปใช้อัตราตามที่ระบุในข้อ 4 ของสัญญา คืออัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่ใช้กับลูกค้าที่ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,058,112.67 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 27,790,821.50 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งแปดไม่ชำระหนี้ หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้บังคับจำนองยึดทรัพย์จำนองตามคำฟ้องและทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งแปดออกขายทอดตลาดแล้วเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ว่า รอยตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ที่จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครคือรอยตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ที่ประทับไว้ท้ายสำเนาคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัด ซึ่งแตกต่างจากรอยตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ที่ประทับไว้ในช่องลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในสำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาล แต่ก็ได้ความว่าลายมือชื่อผู้แทนจำเลยที่ 2 ในช่องผู้ค้ำประกันก็คือลายมือชื่ออันแท้จริงของจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองของนายทะเบียน จึงเชื่อได้ว่าผู้ที่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ลงในช่องผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันคือ จำเลยที่ 6 มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ประทับตราสำคัญดังกล่าวเองทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าตราสำคัญที่นำมาประทับดังกล่าวมิใช่ตราสำคัญที่จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนไว้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อปัดความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งแปดข้อต่อไปว่า หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้อง 5 ฉบับแรกขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ขายในต่างประเทศ และให้โจทก์ให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 1 โดยชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนนั้น เป็นการให้บริการสินเชื่อประเภทหนึ่งของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์เข้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือเป็นผู้ดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 หรือรับทำการงานต่าง ๆ แทนจำเลยที่ 1 ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) ดังที่จำเลยทั้งแปดเข้าใจไม่ จะนำอายุความ 2 ปี ตามบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีนี้หาได้ไม่ นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต จึงได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์เพื่อขอรับเอกสารสิทธิจากโจทก์ไปรับสินค้าก่อน แล้วจะชำระเงินแก่โจทก์ในภายหลัง ต่อมาจำเลยที่ 1 รับสินค้าไปแล้วไม่ชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอันเป็นสัญญาซึ่งต่อเนื่องกับสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 และหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้อง 5 ฉบับ ครบกำหนดชำระในวันที่ 14 ตุลาคม 2539 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำฟ้อง 5 ฉบับแรกครบกำหนดชำระอันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวได้ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวจึงยังไม่ขาดอายุความ
ข้อพิจารณาประการต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราผิดนัดหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทในข้อ 4 ได้ระบุไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่าเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับมิได้กำหนดจำนวนดอกเบี้ยไว้แน่นอนตายตัว ดอกเบี้ยในข้อ 4 นี้ ย่อมหมายถึงดอกเบี้ยลอยตัวในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าที่มิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาต่อโจทก์ แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวในข้อ 7 กลับระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ตามข้อสัญญาดังกล่าวมานี้ย่อมมีหมายความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดจากจำเลยที่ 1 ได้นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จสิ้นโดยต้องย้อนไปใช้อัตราตามที่ระบุในข้อ 4 ของสัญญาทรัสต์รีซีท คืออัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่ใช้กับลูกค้าที่ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญาเท่านั้นซึ่งได้แก่ อัตราระหว่างร้อยละ 14.25 ต่อปี ถึง 19.25 ต่อปี สำหรับช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นวันฟ้อง โดยดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดจากลูกค้าที่มิได้ผิดนัดชำระหนี้ได้แก่อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไปตามที่ระบุไว้ในประกาศธนาคารโจทก์ ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ระบุเป็นอัตราเอ็มอาร์อาร์ (MRR) บวก 2 หรือเท่ากับร้อยละ 15.25 ต่อปี และในช่วงระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดสำหรับเงินกู้ยืมทุกประเภทที่มิได้ผิดนัดหรือมิได้ผิดเงื่อนไขตามสัญญา โดยระบุเป็นอัตราเอ็มแอลอาร์ (MLR) บวก 4 ต่อปี หรือเท่ากับระหว่างร้อยละ 17.75 ต่อปี ถึง 19.25 ต่อปี ส่วนในช่วงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 อันเป็นวันฟ้องได้แก่ อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไปโดยระบุไว้ไม่เกินอัตราเอ็มแอลอาร์ (MLR) บวก 4 ต่อปี หรือเท่ากับระหว่างร้อยละ 14.25 ต่อปี ถึง 19 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญาซึ่งตามประกาศธนาคารโจทก์ดังกล่าวมีอัตราอยู่ระหว่างร้อยละ 18 ต่อปี ถึง 21.50 ต่อปี ในช่วงระยะเวลาเดียวกันตามประกาศธนาคารโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดชำระดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยข้อสัญญาตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ประกอบกับข้อ 4 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งแปดได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับแรกเป็นต้นเงินจำนวน 2,535,810.96 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สองเป็นต้นเงินจำนวน 4,599,278.36 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สามเป็นต้นเงินจำนวน 4,618,368.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยช่วงก่อนครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาจำนวน 268,250.25 บาท และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สี่เป็นต้นเงินจำนวน 4,870,536.36 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยช่วงก่อนครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาจำนวน 249,614.99 บาท และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ห้าเป็นต้นเงินจำนวน 4,590,598.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยช่วงก่อนครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาจำนวน 253,566.81 บาท และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่หกเป็นต้นเงินจำนวน 2,579,382 บาท พร้อมดอกเบี้ยช่วงก่อนครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาจำนวน 141,006.22 บาท และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป และตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่เจ็ดเป็นต้นเงินจำนวน 3,996,846.62 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยช่วงก่อนครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาจำนวน 216,218.30 บาท และดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแต่ละจำนวนแก่โจทก์เสร็จสิ้น โดยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดของต้นเงินทุกจำนวนดังกล่าวให้ชำระในอัตราลอยตัว ดังนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2539 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ให้ชำระในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไปร้อยละ เอ็มอาร์อาร์ บวก 2.00 ต่อปี ตามประกาศธนาคารโจทก์ ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2539 ฉบับลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน 2540 ฉบับลงวันที่ 2 มิถุนายน 2540 และช่วงระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ให้ชำระในอัตราดอกบี้ยและส่วนลดสูงสุดสำหรับเงินกู้ยืมทุกประเภทที่มิได้ผิดนัดหรือมิได้ผิดเงื่อนไขตามสัญญาร้อยละ เอ็มแอลอาร์ บวก 4 ต่อปี ตามประกาศธนาคารโจทก์ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2540 ฉบับลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ฉบับลงวันที่ 18 กันยายน 2540 ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2540 ฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2540 ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2541 และช่วงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2541 จนถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542) ให้ชำระในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไป (กรณีที่ลูกหนี้ไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ฉบับลงวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2541 ฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2542 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2542 และฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 ข้อ 4 ร้อยละเอ็มแอลอาร์ บวก 4 นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปให้ชำระในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสำหรับลูกค้าทั่วไป (กรณีที่ลูกหนี้ไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542 ฉบับลงวันที่ 4 มีนาคม 2542 ฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2542 ฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ข้อ 4 ร้อยละ เอ็มแอลอาร์ บวก 4 กับอัตราดังกล่าวนี้หรืออัตราที่เรียกอย่างอื่นแต่มีผลเป็นอัตราสูงสุดเท่าที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากลูกค้าทั่วไปซึ่งไม่ได้ผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยระบุไว้ในประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลด ฉบับที่โจทก์จะประกาศต่อ ๆ ไปหลังจากนั้น ทั้งนี้ ตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศดังกล่าวแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ แต่ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542) เป็นต้นไปต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องรวมกันต้องไม่เกินจำนวน 12,267,267.17 บาท ตามที่โจทก์ฟ้อง กับให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่สี่ถึงที่เจ็ดรวมเป็นเงิน 24 บาท แก่โจทก์ด้วย ถ้าจำเลยทั้งแปดไม่ชำระ ก็ให้บังคับจำนองยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 5 ตามคำฟ้องออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากไม่พอชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งแปดออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง และให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมนอกนั้นให้เป็นพับ.

Share