แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ป. สามีโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วจากจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่ป. ยังค้างชำระราคาส่วนหนึ่งแก่จำเลยตามป.ที่ดินมาตรา4ทวิประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่96ข้อ2ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษสิทธิครอบครองในที่พิพาทจึงโอนไปเป็นของป. ด้วยผลของกฎหมายไม่จำต้องมอบการครอบครองกันตามป.พ.พ.มาตรา1378การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาก็โดยอาศัยสิทธิของป. แต่ต่อมาเมื่อจำเลยไปขอรับเงินค่าที่ดินที่ค้างจากป. กลับถูกปฏิเสธจำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับป. และว่าจะไม่ยอมออกจากที่พิพาทหากป.ต้องการให้ไปฟ้องเอาดังนี้แม้จะไม่เป็นผลให้สัญญาซื้อขายระหว่างป. กับจำเลยเลิกกันก็ตามแต่ก็เป็นการบอกกล่าวของจำเลยต่อป. ว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนป. ต่อไปอันเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยมิได้ยึดถือที่พิพาทแทนป.ต่อไปตามป.พ.พ.มาตรา1381การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่พิพาทอันเป็นการสืบสิทธิจากป. เจ้ามรดกเพิ่งนำคดีมาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งที่ดินดังกล่าวจากจำเลยเมื่อเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่จำเลยแย่งการครอบครองโจทก์จึงขาดสิทธิฟ้องเอาคืนที่พิพาทตามป.พ.พ.มาตรา1375.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาและผู้จัดการมรดกของนายปุ้ยพรมบุตร นายปุ้ยได้ซื้อที่ดินจากจำเลยจดทะเบียนถูกต้อง จำเลยรับเงินไปแล้วและมอบ น.ส. 3 ให้แก่นายปุ้ยไว้ ต่อมาเมื่อนายปุ้ยตายและโจทก์ได้รับมรดกที่ดินนั้นแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า จำเลยขายที่ดินพิพาทให้นายปุ้ย แต่นายปุ้ยยังชำระราคาให้ไม่ครบ จำเลยไม่ติดต่อขอรับเงินก็ถูกนายปุ้ยปฏิเสธจำเลยจึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายและแสดงเจตนาเข้าถือสิทธิในที่พิพาทในฐานะเจ้าของโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วจึงได้สิทธิครอบครอง โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนภายใน 1 ปี คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวาร
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 นายปุ้ย พรมบุตรสามีโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนการซื้อขายที่พิพาทกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 จ.4 จำเลยได้รับเงินในวันนั้นเป็นเงิน2,000 บาท แต่ยังมิได้ออกจากที่พิพาท ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2524จำเลยไปขอรับเงินซึ่งอ้างว่ายังค้างชำระอยู่อีก นายปุ้ยปฏิเสธอ้างว่าตกลงซื้อขายกันเพียง 2,000 บาท จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับนาปุ้ยต่อหน้าโจทก์และไม่ยอมออกจากที่พิพาท นายปุ้ยตายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2525 โจทก์เป็นผู้รับมรดกที่พิพาทจากนายปุ้ยโดยได้จดทะเบียนโอนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัญหาวินิจฉัยมีว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาทฟ้องให้จำเลยและบริวารออกไปได้หรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าซึ่งมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้ว การซื้อขายที่พิพาทระหว่างนายปุ้ยกับจำเลยได้ทำเป็นหนังสืแลจำเลยได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96ข้อ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ สิทธิครอบครองในที่พิพาทจึงโอนไปเป็นของนายปุ้ยด้วยผลของกฎหมายนั้น หาจำต้องมอบการครอบครองกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 ดังที่จำเลยฎีกาอีกไม่ การที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทต่อมาก็โดยอาศัยสิทธิของนายปุ้ย แต่ต่อมาภายหลังจดทะเบียนซื้อขายแล้วคือในวันที่ 31 ธันวาคม 2525 เมื่อจำเลยถูกนายปุ้ยปฏิเสธการชำระเงินส่วนที่เหลือและจำเลยบอกเลิกสัญญากับนายปุ้ย แม้จะไม่เป็นผลให้สัญญาซื้อขายระหว่างนายปุ้ยกับจำเลยเลิกกันก็ตามแต่ก็เป็นการบอกกล่าวของจำเลยต่อนายปุ้ยว่าไม่เจตนาจะยึดถือที่พิพาทแทนนนายปุ้ยต่อไป เพราะปรากฎจากการตอบคำถามของโจทก์ว่า ในวันจำเลยบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยบอกนายปุ้ยว่า จำเลยจะไม่ยอมออกจากที่พิพาทหากนายปุ้ยต้องการให้ไปฟ้องเอา อันเป็นการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือว่าจำเลยมิได้ยึดถือที่พิพาทแทนนายปุ้ยต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ ่มาตรา 1381 รับกับการรื้อรั้วที่นายปุ้ยและโจทก์ไปล้อมในที่พิพาทภายหลังต่อจากนั้นแม้แต่เมื่อจำเลยไปร้องเรียนต่อทางอำเภอเพื่อให้เปรียบเทียบและตกลงกันไม่ได้ตามเอกสารหมาย ล.1 จำเลยก็ยังยืนยันการอยู่ในที่พิพาทในลักษณะเดิมอีก ดังนั้นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกที่พิพาทอันเป็นการสืบสิทธิจากนายปุ้ยเจ้ามรดกเพิ่งนำคดีมาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งที่ดินดังกล่าวจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2526ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยแย่งการครอบครองโจทก์จึงขาดสิทธิฟ้องเอาคืนที่พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง…”.