คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2507 กำหนดระยะเวลา 1 เดือนสำหรับการยื่นฎีกา เริ่มนับหนึ่งในวันที่ 29 ตุลาคม 2507 ครบ 1 เดือนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2507 แต่วันที่ 28, 29 พฤศจิกายน 2507 ตรงกับวันหยุดราชการ โจทก์จึงยื่นฎีกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2507 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161
โจทก์ขออ้างสำนวนคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาเพื่อแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายโดยได้จดทะเบียนสมรส นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ยุติมาแต่ศาลชั้นต้น โดยโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ในข้อนี้ และยอมรับในอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องกับจำเลยมิใช่สามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จดทะเบียนสมรส คงอุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่ว่า เรือนพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องกับจำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่งข้อเดียวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อนุญาตให้อ้าง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เรือนที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน เรือนพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องจำเลยได้มาระหว่างอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ผู้ร้องทราบแล้วไม่ได้บอกล้างนิติกรรม โจทก์มีสิทธิยึดเรือนพิพาท
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ โดยมิได้จดทะเบียนสมรส เรือนพิพาทเป็นของผู้ร้อง จำเลยไม่มีส่วนร่วมเข้าเป็นเจ้าของ โจทก์ไม่มีสิทธิยึด พิพากษาให้ปล่อยการยึดเรือนพิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่ผู้ร้องแก้ฎีกาว่าโจทก์ยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๗ กำหนดระยะเวลา ๑ เดือน สำหรับการยื่นฎีกาเริ่มนับหนึ่งในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๐๗ ครบกำหนด ๑ เดือน ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ แต่วันที่ ๒๘ และ ๒๙ พฤศจิกายน ตรงกับวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โจทก์จึงยื่นฎีกาในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ๑๖๑ ฎีกาโจทก์หาล่วงพ้นเวลาที่กำหนดไว้ให้ยื่นฎีกาดังข้อโต้แย้งไม่
ฎีกาและคำร้องของโจทก์ซึ่งขออ้างสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๒๑๔๓/๒๕๐๗ ของศาลอาญา เป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาเพื่อแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายโดยได้จดทะเบียนสมรสนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ยุติตั้งแต่ศาลชั้นต้นโดยโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ในข้อนี้ และยอมรับในอุทธรณ์ว่าผู้ร้องกับจำเลยมิใช่สามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรส คงอุทธรณ์แต่เฉพาะประเด็นที่ว่าเรือนพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องกับจำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่ง ข้อเดียวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อนุญาตให้อ้าง
ในประเด็นที่ว่า เรือนพิพาทเป็นของผู้ร้องผู้เดียวหรือจำเลยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วยนั้น ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เรือนพิพาทเป็นของผู้ร้องผู้เดียว จำเลยไม่มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิยึด ที่ศาลปล่อยเรือนที่พิพาทเสียนั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share