คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาจากคำฟ้องคดีนั้นเป็นเกณฑ์ โจทก์ฟ้องจำเลยมา 3 ข้อหา คือให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามสัญญากู้เงิน และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งหนี้ในแต่ละข้อหานั้น จำเลยก่อหนี้ขึ้นกับโจทก์ต่างเวลากัน และมีกำหนดเงื่อนไขในการชำระแตกต่างกัน ดังนั้น หนี้ในแต่ละข้อหาจึงแยกจากกันได้แม้จะได้นำที่ดินจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ก็เป็นเรื่องของหลักประกันซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และโดยสภาพโจทก์อาจฟ้องรวมกัน 3 ข้อหามาในคำฟ้องเดียวกันได้ แต่ค่าขึ้นศาลโจทก์จะรวม 3 ข้อหาแล้วเสียค่าขึ้นศาลมาในอัตราสูงสุดนั้นหาชอบไม่ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มมาในแต่ละข้อหานั้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี กู้ยืม ตั๋วสัญญาใช้เงิน และดอกเบี้ยของหนี้แต่ละประเภทต่อโจทก์ แล้วผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยใช้หนี้แก่โจทก์จำนวน 40,099,018.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ในต้นเงินรวม 29,271,192.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 1,333,375.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยคิดแบบทบต้น นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม2539 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2540 เมื่อได้ยอดเงินเท่าใดแล้วให้ถือเป็นต้นเงินคิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันต่อไปแบบไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมกับหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินรวมเป็นเงินจำนวน 28,420,571.56 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 27,702,215.41 บาท นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำฟ้องและที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ มีหนี้สินค้างชำระโจทก์รวม 3 รายการ คือ รายการที่ 1หนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2535 จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามเอกสารหมาย จ.11 ไว้กับโจทก์ ในวันที่ 18 กันยายน 2535 จำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.13 ในวงเงิน 5,000,000 บาท สัญญาไม่มีกำหนดเวลา จำเลยได้เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์เรื่อยมา โดยจำเลยเบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 และได้นำเงินเข้าฝากครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2539 จำนวน 11,114,456.58 บาทเมื่อหักทอนบัญชีกันในวันดังกล่าว จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 1,333,357.06 บาท จากนั้นก็ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีก ต่อมาโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้ถึงวันฟ้องรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,868,544.34 บาท รายการที่ 2 หนี้ตามสัญญากู้เงินคิดถึงวันฟ้องรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 30,688,419.41 บาท รายการที่ 3 หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินคิดถึงวันฟ้องรวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 7,542,058.78 บาท โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลหนี้ 3 ข้อหานี้มาในคำฟ้องเดียวกันโดยเสียค่าขึ้นศาลมา 200,000 บาทศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มแยกตามแต่ละข้อหา

พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่ศาลชั้นต้นในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า สำเนาให้จำเลยหากจำเลยจะคัดค้านให้ยื่นภายในกำหนดแก้อุทธรณ์แล้วจะพิจารณาสั่งต่อไป ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้วจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลฎีกา โดยมิได้มีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาหรือไม่ แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์พออนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้ว ซึ่งมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มโดยแยกเสียตามจำนวนทุนทรัพย์ในแต่ละข้อหานั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาจากคำฟ้องคดีนั้นเป็นเกณฑ์ ตามคำฟ้องนี้โจทก์ฟ้องจำเลยมา 3 ข้อหาคือให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามสัญญากู้เงิน และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งหนี้ในแต่ละข้อหานั้นจำเลยก่อหนี้ขึ้นกับโจทก์ต่างเวลากัน และมีกำหนดเงื่อนไขในการชำระแตกต่างกันดังนั้น หนี้ในแต่ละข้อหาจึงแยกจากกันได้โดยไม่เกี่ยวข้องกันดังโจทก์อุทธรณ์ไม่แม้จะได้นำที่ดินตามที่กล่าวมาในอุทธรณ์จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ก็เป็นเรื่องของหลักประกันซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากและโดยสภาพโจทก์อาจฟ้องรวมกัน 3 ข้อหามาในคำฟ้องเดียวกันได้ แต่ค่าขึ้นศาลโจทก์จะรวม 3 ข้อหาแล้วเสียค่าขึ้นศาลมาในอัตราสูงสุดนั้นหาชอบไม่ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มมาในแต่ละข้อหานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟ้องไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share