คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายเรียกพยานปาก อ. และ น. กรรมการของโจทก์มาครั้งหนึ่งแล้ว ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยแถลงศาลก่อนว่า พยานที่ขอออกหมายเรียกที่ประสงค์จะนำสืบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอย่างไรแล้วจะพิจารณาสั่งต่อไป แต่จำเลยก็ไม่ได้แถลงถึงเหตุที่ต้องขอหมายเรียกพยานดังกล่าวให้ศาลชั้นต้นทราบ จนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างเหตุที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียก อ. และ น. มาเป็นพยานจำเลย และจำเลยไม่ได้เตรียมพยานอื่นมา ซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีโดยกำชับว่าให้จำเลยเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบตามนัด เนื่องจากศาลเลื่อนคดีไปเป็นระยะเวลานานเกือบ 3 เดือน หากในวันนัดไม่สามารถนำพยานอื่นมาสืบได้ก็ให้นำตัวจำเลยเข้าสืบก่อน แต่ครั้นถึงกำหนดจำเลยก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างเหตุว่าประสงค์จะนำ อ. เข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง แต่เกิดเหตุขัดข้องในด้านธุรการศาล เจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถนำหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวมาให้ทนายจำเลยได้ และไม่มีพยานอื่นของจำเลยมาศาล พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการประวิงคดี
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้ว จะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้น คือมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ เมื่อการขอเลื่อนคดี ตามคำร้อง และคำแถลงของทนายจำเลยต่อศาลชั้นต้นไม่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลชั้นต้นว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม พฤติการณ์จึงเป็นการประวิงคดี ชอบที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลย โดยไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไป และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณากำหนดนัดฟังคำพิพากษา จึงมีความหมายในตัวว่ากำหนดนัดสืบพยานจำเลยที่เหลือล่วงหน้าเป็นอันยกเลิกไปในตัว ศาลชั้นต้นหาจำต้องสั่งยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองอีกไม่ กรณีมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ได้
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า อ. ไม่ใช่กรรมการผู้มีสิทธิมอบอำนาจกระทำการแทนโจทก์ หรือลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม อันมีเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจนั้นไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริง ที่จะนำเข้าสู่ประเด็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ และข้อต่อสู้ของจำเลยเกี่ยวกับใบมอบอำนาจในเรื่องวันที่ สถานที่ ที่ทำใบมอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจ และพยานร่วมกันลงชื่อตามวันและสถานที่ตามใบมอบอำนาจหรือไม่ ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ใบมอบอำนาจไม่สมบูรณ์และไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่จำเลยขอหมายเรียก อ. มาเบิกความเป็นพยานจำเลยในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี จึงงดสืบพยานดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104 แล้ว
คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยไม่ได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยมาศาลไม่ได้ในวันนัดสืบพยานจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามทนายจำเลยถึงการไม่นำตัวจำเลยมาเบิกความเป็นพยาน ทนายจำเลยแถลงเพียงว่า จำเลยติดธุระสำคัญไม่อาจมาศาลได้เท่านั้น ถือได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลชั้นต้นแล้วว่า คำร้องขอเลื่อนคดีและคำแถลงของทนายจำเลยไม่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้และไม่แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรม ประกอบกับศาลชั้นต้นได้กำชับให้นำตัวจำเลยเข้าเบิกความ หากไม่มีพยานอื่นของจำเลยมาศาลในนัดก่อนหน้านี้แล้ว ศาลชั้นต้นหาจำต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยอีกแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน5,444,133.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วในชั้นสืบพยานจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอหมายเรียกนายโอฬาร ไชยประวัติ และนายอานันท์ ปันยารชุน มาเบิกความเป็นพยานจำเลยตามคำร้อง ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียก โดยมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลก่อนว่าประสงค์จะนำสืบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอย่างไรก่อนจึงพิจารณาสั่งต่อไป แต่จำเลยทั้งสองไม่แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบ ครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรกวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งสองจึงไม่มีพยานมาศาลและแถลงขอเลื่อนคดีไปสักนัดหนึ่ง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยใหม่วันที่ 4, 24 กุมภาพันธ์ 2541 และ 11 มีนาคม 2541 เวลา 9 นาฬิกา ทุกนัด โดยกำชับฝ่ายจำเลยให้เตรียมพยานมาให้พร้อมสืบตามนัด เนื่องจากศาลเลื่อนคดีไปเป็นระยะเวลานาน หากในวันนัดไม่สามารถนำพยานอื่นมาสืบได้ ก็ให้นำตัวจำเลยเข้าสืบก่อน ครั้นถึงวันนัดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่า ยังไม่ได้รับหมายเรียกนายโอฬาร ไชยประวัติ ที่จำเลยทั้งสองประสงค์จะนำสืบเป็นปากแรกเกี่ยวกับอำนาจฟ้องรายละเอียดปรากฏตามคำร้องฉบับลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ทนายโจทก์คัดค้านว่าเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี และมีพฤติการณ์เป็นประวิงคดี

ศาลชั้นต้นเห็นว่า พฤติการณ์เห็นได้ว่าเป็นการประวิงคดี จึงไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดี และให้งดสืบพยานจำเลย แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์2541 ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีต่อไปอีกและสั่งงดสืบพยานจำเลยทั้งสองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ทั้งมีเหตุต้องเพิกถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 อ้างว่าประสงค์จะขอหมายเรียกพยานบุคคลคือนายโอฬาร ไชยประวัติ เข้าสืบเป็นพยานจำเลยทั้งสองปากแรกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง แต่มีเหตุขัดข้องในด้านธุรการศาล เจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถนำหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวมาให้ทนายจำเลยทั้งสอง ทำให้ไม่สามารถนำหมายเรียกพยานบุคคลไปส่งให้นายโอฬาร ไชยประวัติ มาเบิกความได้ จึงขอเลื่อนคดีไปสืบพยานจำเลยทั้งสองในนัดหน้าซึ่งนัดไว้แล้วนั้น ซึ่งความจริงแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งสองเคยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายเรียกพยานปากนายโอฬาร ไชยประวัติ และนายอานันท์ ปันยารชุน กรรมการของโจทก์มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่ออกหมายเรียกพยานทั้งสองให้แก่จำเลยทั้งสองโดยสั่งว่าให้จำเลยทั้งสองแถลงศาลก่อนว่า พยานที่ขอออกหมายเรียกที่ประสงค์จะนำสืบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอย่างไรแล้ว จึงจะพิจารณาสั่งต่อไป แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้แถลงถึงเหตุที่ต้องขอหมายเรียกพยานดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองให้ศาลชั้นต้นทราบ จนถึงวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองนัดแรกวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 จำเลยทั้งสอง ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกนายโอฬาร ไชยประวัติ และนายอานันท์ ปันยารชุนมาเป็นพยานจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ได้เตรียมพยานอื่นมาซึ่งศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีโดยกำชับว่าให้จำเลยทั้งสองเตรียมพยานมาให้พร้อมสืบตามนัด เนื่องจากศาลเลื่อนคดีไปเป็นระยะเวลานาน หากในวันนัดไม่สามารถนำพยานอื่นมาสืบได้ก็ให้นำตัวจำเลยเข้าสืบก่อน ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 แต่ครั้นถึงกำหนดนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไปในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยทั้งสองก็ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างเหตุว่า ประสงค์จะนำนายโอฬาร ไชยประวัติ เข้าสืบเป็นพยานจำเลยทั้งสองปากแรกเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง แต่เกิดเหตุขัดข้องในด้านธุรการศาล เจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถนำหมายเรียกพยานบุคคลดังกล่าวมาให้ทนายจำเลยทั้งสองได้นายโอฬาร ไชยประวัติ จึงไม่ได้มาศาลและไม่มีพยานอื่นของจำเลยทั้งสองมาศาลซึ่งทนายโจทก์แถลงคัดค้านว่าพยานที่จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกมาเบิกความเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีและมีพฤติการณ์เป็นการประวิงคดีซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นการประวิงคดี จึงไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีและให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองดังนั้น การที่จำเลยทั้งสอง มิได้นำพยานปากอื่นหรือจำเลยที่ 2 มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ตามที่ศาลชั้นต้นกำชับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 แสดงว่าจำเลยทั้งสองและทนายจำเลยทั้งสองหาได้ตระหนักหรือสนใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งกำชับของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสองเลื่อนคดีเป็นเวลานานเกือบ 3 เดือน เมื่อศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ออกหมายเรียกนายโอฬาร ไชยประวัติ มาเป็นพยานจำเลยทั้งสองโดยให้จำเลยทั้งสองแถลงก่อนว่าจะนำพยานดังกล่าวเข้าสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีอย่างไร เพื่อจะพิจารณาสั่งต่อไป แต่จำเลยทั้งสองก็มิได้นำพาเมื่อไม่สามารถนำพยานของจำเลยทั้งสองมาศาล แทนที่ทนายจำเลยทั้งสองจะขวนขวายนำพยานอื่นของจำเลยทั้งสองมาศาลหรือนำตัวจำเลยที่ 2 เข้าสืบก่อนตามที่ศาลชั้นต้นกำชับไว้ แต่ทั้งตัวจำเลยที่ 2 และพยานอื่นของจำเลยทั้งสองก็ไม่มาศาล โดยทนายจำเลยทั้งสองอ้างเพียงว่าจำเลยติดธุระสำคัญไม่อาจมาศาลได้ โดยไม่แสดงให้แจ้งชัดว่าติดธุระอะไร และสำคัญเร่งด่วนอย่างไร เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีเจตนารมณ์จะให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยมิชักช้า การเลื่อนคดีก็อนุญาตให้เลื่อนได้เพียงครั้งเดียว คู่ความที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนคดีไปแล้วจะขอเลื่อนคดีอีกได้ก็ต่อเมื่อเข้าข้อยกเว้น คือมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้แต่กรณีการขอเลื่อนคดีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541ตามคำร้องและคำแถลงของทนายจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นนั้นไม่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลชั้นต้นว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม พฤติการณ์จึงเป็นการประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสองโดยไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจึงชอบแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง คดีเป็นอันเสร็จการพิจารณากำหนดนัดฟังคำพิพากษา เช่นนี้ จึงมีความหมายในตัวว่า กำหนดนัดสืบพยาน จำเลยทั้งสองที่เหลือล่วงหน้าเป็นอันยกเลิกไปในตัว ศาลชั้นต้นหาจำต้องสั่งยกเลิกวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองอีกแต่อย่างใดไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว กรณีมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ได้

ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะนำนายโอฬาร ไชยประวัติ ผู้มอบอำนาจของโจทก์มาสืบเกี่ยวกับอำนาจฟ้องอันเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีไว้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีเพียงว่า หนังสือมอบอำนาจซึ่งทำเมื่อวันที่22 กุมภาพันธ์ 2536 ไม่ได้ร่วมทำ ณ สถานที่ตามที่ระบุไว้ ผู้มอบอำนาจผู้รับมอบอำนาจและพยานที่ร่วมลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไม่ได้กระทำการมอบอำนาจกันในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 เท่านั้น โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่านายโอฬาร ไชยประวัติ ไม่ใช่กรรมการผู้มีสิทธิมอบอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมอันมีเหตุอันสมควรสงสัยว่าในมอบอำนาจนั้นไม่ใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงที่จะนำเข้าสู่ประเด็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ แต่ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเกี่ยวกับใบมอบอำนาจ ในเรื่องวันที่ สถานที่ ที่ทำใบมอบอำนาจ และผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และพยานร่วมกันลงชื่อตามวันและสถานที่ตามใบมอบอำนาจหรือไม่ก็ดีหาเป็นเหตุที่จะทำให้ใบมอบอำนาจไม่สมบูรณ์และไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่จำเลยทั้งสองขอหมายเรียกนายโอฬาร ไชยประวัติ มาเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสองในเรื่องอำนาจฟ้องนั้นเป็นพยานที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดี จึงงดสืบพยานดังกล่าว เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 104

ฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้ไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยทั้งสองก่อนซึ่งศาลจะได้ทราบเหตุผลของจำเลยทั้งสองว่าติดธุระสำคัญอะไร จึงมาศาลไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยทั้งสองลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 ไม่ได้กล่าวถึงเหตุที่จำเลยที่ 2 มาศาลไม่ได้ในวันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสองเลย เมื่อศาลชั้นต้นสอบถามทนายจำเลยทั้งสองถึงการไม่นำตัวจำเลยมาเบิกความเป็นพยาน ทนายจำเลยทั้งสองแถลงเพียงว่าจำเลยติดธุระสำคัญไม่อาจมาศาลได้เท่านั้น ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541ถือได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลชั้นต้นแล้วว่าคำร้องขอเลื่อนคดี และคำแถลงของทนายจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้และไม่แสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรม ประกอบกับศาลชั้นต้นได้กำชับให้นำตัวจำเลยเข้าเบิกความหากไม่มีพยานอื่นของจำเลยทั้งสองมาศาลในนัดก่อนหน้านี้แล้วดังนั้น ศาลชั้นต้นหาจำต้องไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยทั้งสองอีกแต่อย่างใดไม่

พิพากษายืน

Share