แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำชับมิให้ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีไว้แล้ว การที่ในนัดสุดท้ายซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยพร้อมสืบพยานโจทก์ โจทก์มิได้ไปศาล และศาลชั้นต้นขึ้นนั่งพิจารณาคดีสืบพยานจำเลยในเวลา 11 นาฬิกา จนเสร็จโดยถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน แล้วมีคำสั่งให้รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน ต่อมาในเวลาบ่ายทนายโจทก์ได้ไปศาลจึงทราบเหตุและยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์โดยให้เหตุผลว่าจดเวลานัดผิดพลาดเป็นเวลาบ่าย ซึ่งในขณะนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาว่ามีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไปหรือไม่ การที่ทนายโจทก์จดเวลานัดผิดพลาด ถือว่าเป็นเหตุผลสมควรที่จะให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามเช็คจำนวน 1,500,000บาท ซึ่งจำเลยสั่งจ่ายให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้วกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน จำเลยสืบพยานจนถึงนัดสุดท้าย วันที่22 ธันวาคม 2543 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งเป็นนัดสืบพยานจำเลยพร้อมสืบพยานโจทก์ แต่โจทก์มิได้ไปศาล เมื่อจำเลยสืบพยานแล้วเสร็จและแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยานและมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ให้ยกฟ้อง วันดังกล่าวโจทก์มาศาลในตอนบ่ายและยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลสมควรใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานและกำหนดให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน โดยนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกวันที่ 15กันยายน 2541 ปรากฏว่าต้องนัดสืบพยานจำเลยรวมถึง 13 นัด จึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งนัดที่ 13คือวันที่ 22 ธันวาคม 2543 เป็นวันนัดสืบพยานจำเลยพร้อมสืบพยานโจทก์ แต่ทั้ง 13 นัดดังกล่าวมีการสืบพยานจำเลยได้เพียง 4 นัด ๆ ละ 1 ปาก นอกนั้นอีก 9 นัด ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเอง 1 นัด จำเลยขอเลื่อนคดีอ้างเหตุตัวความติดธุระสำคัญ1 นัด และอ้างเหตุจากทนายความจำเลยรวม 7 นัด กับปรากฏอีกว่าทั้ง 13 นัด เป็นการนัดสืบพยานในเวลา 13.30 นาฬิกา รวม 9 นัด และนัดสืบพยานในเวลา 9 นาฬิกา เพียง4 นัด คือนัดที่ 4 วันที่ 2 เมษายน 2542 นัดที่ 6 วันที่ 20 สิงหาคม 2542 นัดที่ 12 วันที่20 ตุลาคม 2543 และนัดสุดท้ายวันที่ 22 ธันวาคม 2543 ซึ่งนอกจากนัดสุดท้ายแล้วไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแม้แต่นัดเดียวว่า ทนายความโจทก์ไม่ไปศาลหรือเคยเป็นฝ่ายขอเลื่อนคดี ดังนี้ พฤติการณ์แห่งคดีย่อมชี้ชัดว่าฝ่ายโจทก์ได้เอาใจใส่คดีมาโดยตลอด ต่างกับฝ่ายจำเลยซึ่งอ้างเหตุขอเลื่อนคดีมาฝ่ายเดียวและฝ่ายโจทก์แถลงไม่คัดค้านเกือบทุกนัดยกเว้นนัดที่ 11 วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เพียงนัดเดียว อันเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องกำชับมิให้ฝ่ายจำเลยขอเลื่อนคดีอีก การที่ในนัดสุดท้ายซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยพร้อมสืบพยานโจทก์ แต่โจทก์มิได้ไปศาลตามเวลาที่ศาลนัด และศาลชั้นต้นขึ้นนั่งพิจารณาคดีสืบพยานจำเลยในเวลา 11 นาฬิกา จนเสร็จโดยถือว่าโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน แล้วมีคำสั่งให้รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน ต่อมาในเวลาบ่ายทนายความโจทก์ได้ไปศาลจึงทราบเหตุและยื่นคำร้องขอสืบพยานโจทก์โดยให้เหตุผลว่า จดเวลานัดผิดพลาดเป็นเวลาบ่าย ซึ่งในขณะนั้นก็ยังไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงเห็นได้ว่าทนายความโจทก์ได้มาศาลก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาคำร้องของโจทก์ว่ามีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานเข้าสืบต่อไปหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าทนายความโจทก์จดเวลานัดผิดพลาดจริง จึงชอบที่จะให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจักบังเกิดแก่คู่ความทุกฝ่ายโดยเสมอภาคกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาคดีมานั้น ชอบด้วยเหตุผลในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน