คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ประธานศาลฎีกาจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศหรือไม่ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 9 นั้น จักต้องเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่า คดีนั้นเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7 (1) ถึง (11) เมื่อคดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการซื้อขายระหว่างประเทศและทรัสต์รีซีทโดยแจ้งชัด จึงอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 7 (5), (6) ไม่มีปัญหาอันต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ ๑ ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้า โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศแล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์หลายฉบับ โดยจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว และมีจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอม รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ผิดนัด คงชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วน โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน ๑๗๐,๒๕๙,๕๖๓.๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๑๒๔,๕๘๘,๘๒๘.๖๑ บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสามชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจำนองตลอดทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การว่า คดีนี้เป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่เกี่ยวกับผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ ๑ ที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ใช่การซื้อขายสินค้า ระหว่างประเทศ ศาลแพ่งคือศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ไม่ใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม คดีของโจทก์ขาดอายุความ สัญญาจำนองเป็นเอกสารปลอม จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยในประเด็นอำนาจพิจารณาพิพากษาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ทรัสต์รีซีท และ การประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๖)
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มิได้บัญญัติให้คำนิยามเกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างประเทศไว้ จึงต้องอาศัยหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔ ซึ่งหลักทั่วไปในเรื่องสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ดิ อันแฟร์ คอนแทรค เทอม แอค ๑๙๗๗ (The Unfair Contract Term Act ๑๙๗๗) ของประเทศอังกฤษ มาตรา ๒๖ (๓) และ (๔) หรือตาม หลักกฎหมายการค้าระหว่างประเทศที่บัญญัติถึงหลักทั่วไปในการซื้อขายระหว่างประเทศว่า ต้องเป็นสัญญาที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าและคู่สัญญาจะต้องมีสถานประกอบการอยู่คนละประเทศหรือมีถิ่นที่อยู่คนละประเทศ แต่ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ และจำเลยที่ ๑ ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่เกี่ยวกับผู้ขายสินค้าที่อยู่ต่างประเทศ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ทั้งการวินิจฉัยว่าคดีใดอยู่ในอำนาจพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศนั้นได้แก่คดีตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๑) ถึง (๑๑) เมื่อคดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้ขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและต่อมาได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์นั้น เป็นกรณีเกี่ยวข้องกับการที่จำเลยที่ ๑ สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศ โดยมีจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ ต่อโจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศและทรัสต์รีซีทโดยชัดแจ้ง จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๕) และ (๖) ส่วนกรณีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙ นั้นหมายถึงกรณีที่มีปัญหาข้อสงสัยยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าคดีนั้นเป็นคดีประเภทใดประเภทหนึ่งตามมาตรา ๗ (๑) ถึง (๑๑) ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงจะเป็นปัญหาที่จะต้องเสนอให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อคดีนี้จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยอ้างแต่เพียงว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยด้วยกันเท่านั้นทั้งที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด หากแต่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกตามคำขอของจำเลยที่ ๑ กับรับผิดตามสัญญาทรัสต์รีซีท อันเป็นคำฟ้องที่มีลักษณะเป็นคดีตามบทบัญญัติ มาตรา ๗ (๖) ดังกล่าวข้างต้น และจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีแพ่ง เกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวกับทรัสต์รีซีทแต่อย่างใด ดังนี้ แม้ข้ออ้างของจำเลยเป็นจริงก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอำนาจศาลแต่อย่างใด จึงไม่จำต้อง เสนอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย และเมื่อจำเลยทั้งสามอุทธรณ์โดยอ้างว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเหตุเดิม ดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าแม้จะวินิจฉัยข้ออุทธรณ์นั้นให้และวินิจฉัยได้ความดังอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ก็ไม่ทำให้ผลในเรื่องอำนาจศาลในคดีนี้เปลี่ยนแปลงเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งสาม ค่าทนายความให้เป็นพับ

Share