คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยเพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญา แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้น เป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็น
โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 จำเลยต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406
หลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าที่ดิน 2,872,718 บาท คืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ ย. ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมา ย. ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ดังกล่าวได้ ดังนี้เงิน 2,000,000 บาท จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท เท่านั้น
จำเลยไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2537 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า ตั้งอยู่ที่ตำบลสาย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 38 ไร่ 76 ตารางวา ได้เสนอขายที่ดิน โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 4,363,589 บาท โจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 2,872,718บาท ในวันทำสัญญาวันที่ 25 ตุลาคม 2537 โดยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2538 หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินที่ได้รับไว้แล้วพร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินดังกล่าวและเบี้ยปรับอีกเดือนละ 30,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 6,283,341บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,925,436 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ แต่โจทก์รับว่าสามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทได้จำเลยทั้งสองได้รับเงินมัดจำตามสัญญาไว้เพียง 872,718 บาทและได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 872,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มิถุนายน 2539) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและนายยศ บำรุงธรรม ร่วมกันถือครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินโครงการที่จำแนกป่าห้วยสัก – ป่าแม่กก (หมายเลข 43)เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาทเพื่อประกอบเกษตรกรรม ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2537 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในราคา 4,363,589 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และนายยศ บำรุงธรรม ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา ในวันดังกล่าวโจทก์ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน2,872,718 บาท เป็นเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ลงวันที่ 25ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 872,718 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เงินอีก 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ที่นายยศเป็นหนี้โจทก์โดยถือว่าเป็นราคาที่ดินบางส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1,490,871 บาท โจทก์จะชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2538 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมคืนเงิน 2,872,718 บาท พร้อมเบี้ยปรับจำนวนหนึ่งเท่าของเงินดังกล่าวและชำระเบี้ยปรับเดือนละ 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ ครั้นถึงกำหนดจำเลยทั้งสองไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาทเอกสารหมาย จ.2 นั้น โจทก์ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่สามารถโอนกันได้หรือไม่ปัญหานี้โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า ก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำเลยที่ 2 มาเสนอขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่กรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 สามารถออกเอกสารสิทธิได้และจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน คงให้การเพียงว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าและไม่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น จึงเป็นฎีกานอกคำให้การ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินและอยู่ในระหว่างจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ที่ดินพิพาท จึงต้องห้ามมิให้บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โดยไม่คำนึงว่าเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดเพราะจำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองมีว่าจำเลยทั้งสองจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2เป็นโมฆะดังที่วินิจฉัยมาแล้ว ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ขึ้น คู่สัญญาปราศจากข้อผูกพันในอันที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาเสมือนหนึ่งไม่มีข้อสัญญาด้วยกันนั่นเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสอง เพราะมิใช่เป็นผลจากการผิดสัญญาแต่อย่างใด แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับซึ่งตามมาตรา 412 บัญญัติว่า ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนเต็มจำนวนนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องลาภมิควรได้ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกคำฟ้องนอกประเด็นดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา เมื่อโจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงไม่ใช่โจทก์กระทำการตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามมาตรา 407 แต่เป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินซึ่งได้รับไว้แก่โจทก์ตามมาตรา 406 แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1ได้รับชำระราคาค่าที่ดินจากโจทก์ไว้แล้วเป็นเงิน 2,872,718 บาท ก็ตาม แต่โจทก์ก็เบิกความว่า ความจริงโจทก์ชำระราคาค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2537 จำนวนเงิน 872,718 บาท ส่วนเงินอีก 2,000,000 บาท จำเลยที่ 2 ยอมให้โจทก์หักหนี้ที่นายยศเป็นหนี้โจทก์ โดยถือว่าเป็นราคาค่าที่ดินบางส่วน และเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองว่าหลังจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2ชำระหนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้นายยศชำระหนี้แก่โจทก์ 2,000,000 บาท ต่อมานายยศได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 2,600,000 บาท อันเป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ได้หักหนี้ 2,000,000 บาท ตามที่โจทก์เบิกความข้างต้น ซึ่งก็คือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย ค.1 นั้นเอง ดังนี้ เงิน 2,000,000 บาท ดังกล่าวเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 350 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 872,718 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์รู้ถึงสิทธิในการฟ้องเรียกลาภมิควรได้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2537 อันเป็นวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 21 มิถุนายน 2539 เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกอายุความเรื่องลาภมิควรได้ขึ้นต่อสู้จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share