คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196-1218/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้ แม้จำเลยกับโจทก์ทั้งยี่สิบสามจะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 17 จึงต้องใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง บังคับแทนเมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบสามได้ยื่นใบลาออกต่อจำเลย โดยประสงค์ให้มีผลเมื่อพ้นกำหนด 30วัน นับแต่วันยื่นใบลาออก แต่จำเลยกลับอนุมัติให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามยื่นใบลาออกก่อนกำหนดที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามประสงค์จะให้มีผลเป็นการลาออก จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานจนถึงวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามประสงค์จะลาออกพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 76 บัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ที่ลูกจ้างเป็นหนี้นายจ้าง เว้นแต่การชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตาม (1)-(5) โจทก์ที่ 10เป็นหัวหน้าพนักงานขาย มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งข้อ 2 ระบุว่า ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเสียหายของเจ้าหน้าที่การตลาด จะนำมาหักออกจากค่าตอบแทนของหัวหน้าส่วนที่ได้รับจากทีม ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธินำค่าเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดในส่วนความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 10 มาหักออกจากค่านายหน้าที่โจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งการหักเงินดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์การคำนวณค่านายหน้าที่โจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับ มิใช่เป็นการนำค่าจ้างที่โจทก์ที่ 10 ได้รับมาหักเพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ที่ 10 เป็นหนี้จำเลย จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 76

ย่อยาว

โจทก์ทั้งยี่สิบสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามเคยเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาโจทก์ทั้งยี่สิบสามยื่นหนังสือลาออก และจำเลยอนุมัติให้โจทก์ทุกคนลาออกก่อนวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามระบุไว้ในใบลาออก การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามออกก่อนกำหนดจึงเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงขอเรียกค่าเสียหายนับตั้งแต่วันที่ยื่นใบลาออกจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะลาออก และตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดให้พนักงานลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 20 วันทำงาน หากปีใดพนักงานใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ครบ ก็สามารถนำวันหยุดพักผ่อนประจำที่เหลือมาสมทบในปีถัดไปได้อีก ก่อนที่จำเลยจะอนุมัติให้ลาออก โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11และที่ 12 ยังคงมีวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีในปี 2544 เหลืออีก จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีด้วย นอกจากนี้จำเลยตกลงจะให้ค่านายหน้าจากการขายแก่โจทก์ที่ 10 ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรวมค่านายหน้าจากการขายทั้งหมดที่พนักงานขายที่อยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 10 ทำได้ แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์ที่ 10เพียงบางส่วน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามจำนวน 63,216บาท 153,168 บาท 21,293 บาท 20,000 บาท 30,000 บาท 25,000 บาท 15,000บาท 25,000 บาท 65,000 บาท 25,000 บาท 30,000 บาท 20,000 บาท 25,000 บาท63,202 บาท 15,000 บาท 16,610 บาท 10,966 บาท 25,000 บาท 12,835 บาท20,000 บาท 30,000 บาท 25,000 บาท กับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 จำนวน 24,470.71 บาท 7,030 บาท8,567 บาท 30,333.33 บาท 8,157 บาท และ 12,899 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินทุกจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าจากการขายแก่โจทก์ที่ 10 จำนวน 26,602 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายตามฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง เพราะจำเลยคิดคำนวณเงินจากวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่หักกลบลบหนี้กับหนี้สินหรือค่าเสียหายต่าง ๆ จากนั้นได้จ่ายเงินให้เป็นการเรียบร้อยแล้ว โจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นพนักงานฝ่ายขายหรือการตลาด ซึ่งมีระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการลาออกกำหนดให้พนักงานที่ลาออกพ้นสภาพการเป็นพนักงานในวันยื่นใบลาออกเลยทันที เมื่อจำเลยอนุมัติการลาออก โจทก์ทั้งยี่สิบสามได้ไปทำงานกับบริษัทอื่นแล้ว ไม่ได้อยู่ทำงานจนถึงวันที่ประสงค์ลาออก โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าเสียหายส่วนนี้ โจทก์ที่ 10 ไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการขายเพราะยอดจำนวนเงินจากการขายของพนักงานขายซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 10มีความผิดพลาดด้านตัวเลขและเกิดความเสียหาย ในทางปฏิบัติจำเลยจะหักตัวเลขที่เกิดการผิดพลาดหรือความเสียหายออกก่อน จากนั้นจึงจะจ่ายค่านายหน้าจากการขายให้แก่โจทก์ที่ 10 จำเลยได้กระทำอย่างถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งยี่สิบสาม

โจทก์ทั้งยี่สิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสามข้อแรกว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามออกจากงานก่อนเวลาที่ระบุในใบลาออกพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมนั้นบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 นำบทบัญญัติมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 17ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญา คือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่นได้ การบอกเลิกสัญญาจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541แล้ว แม้จำเลยกับโจทก์ทั้งยี่สิบสามจะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.2 ข้อ 10.3 ระบุว่า การลาออก (1) พนักงานต้องยื่นใบลาให้ผู้บริหารฝ่ายงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน…(3) บริษัทฯ จะจ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่บริษัทฯ อนุมัติให้ลาออกจนถึงวันสุดท้ายของการจ้างงานและตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการลาออก เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 4 ระบุว่าสำหรับพนักงานที่มีหน้าที่ดูแลข้อมูลความลับของบริษัท/และหรือลูกค้า โดยทางปฏิบัติแล้วบริษัทจะอนุมัติให้พ้นสภาพในทันทีที่ยื่นหนังสือลาออก ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของกรรมการผู้จัดการขึ้นไปที่จะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 17 จึงต้องใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสองบังคับแทน ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน คดีนี้จำเลยจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าทำงานโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาจำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ดังนั้น ฝ่ายที่ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบสามได้ยื่นใบลาออกต่อจำเลยก่อนวันที่ 25ของเดือน จึงมีผลเป็นการลาออกเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวันที่ 25 ของเดือนถัดไปซึ่งมีระยะเวลาเกินกว่า 30 วัน ปรากฏว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสามแสดงความประสงค์ให้การลาออกเป็นผลเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันยื่นใบลาออก แต่จำเลยกลับไม่ยอมปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยอนุมัติให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามยื่นใบลาออก ซึ่งเป็นเวลาก่อนกำหนดที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามประสงค์จะให้มีผลเป็นการลาออก ทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานจนถึงวันที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามประสงค์จะลาออก และต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าเสียหายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสามได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายตั้งแต่เมื่อใด จึงให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคือวันที่26 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอโจทก์ทั้งยี่สิบสามในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบสามข้อนี้ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11และที่ 12 ว่า โจทก์ดังกล่าวมีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องจากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 67 บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ และรวมทั้งวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 30 เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 แถลงรับว่า ระหว่างการทำงานในปี 2544โจทก์ที่ 1 ที่ 4 และที่ 10 ได้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเกินส่วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนสำหรับปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ที่ 1ที่ 4 และที่ 10 ลาออก ส่วนโจทก์ที่ 6 ที่ 11 และที่ 12 นั้นแถลงรับว่า ในปี 2544คงเหลือวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีคิดตามส่วนเฉลี่ยของระยะเวลาการทำงานอยู่จำนวน 6.8 วัน 5.8 วัน และ 10.3 วัน ตามลำดับ เมื่อโจทก์ที่ 6 ที่ 11 และที่ 12 ได้ยื่นใบลาออกในปี 2544 มิได้ถูกจำเลยเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างตามส่วนสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 67 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 10ที่ 11 และที่ 12 อุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำฟ้องและคำให้การของโจทก์จำเลยว่าโจทก์ดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนที่แถลงรับจึงมีประเด็นแห่งคดีว่าจำเลยมีสิทธินำค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายได้หรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ดังกล่าวลาออกเองมิได้ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนในปีที่ถูกเลิกจ้าง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นเห็นว่า โจทก์ดังกล่าวอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงต่างจากที่ศาลแรงงานกลางรับฟังตามคำแถลงรับของคู่ความเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและโจทก์ดังกล่าวอุทธรณ์ว่า จำเลยได้แถลงรับว่าเฉพาะในปี 2543 สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 4 เหลือ 1 วันครึ่ง โจทก์ที่ 6 เหลือ 5 วัน โจทก์ที่ 11 เหลือ 6 วันครึ่งโจทก์ที่ 12 เหลือ 7 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวนดังกล่าวนั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังจากคำแถลงรับของโจทก์ดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเช่นกัน ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 10 ว่า โจทก์ที่ 10 มีสิทธิเรียกค่านายหน้าจากการขายพร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ที่ 10 อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า เอกสารหมาย ล.5 ข้อ 2 ข้อความที่ว่า ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเสียหายของหัวหน้าส่วน จะนำมาหักออกจากค่าตอบแทนที่คำนวณจากข้อ 1.2 ถ้าไม่มีก็จะนำมาหักออกจากค่าตอบแทนที่ได้รับจากทีม การที่จำเลยนำค่านายหน้าจากการขายของโจทก์ที่ 10 หักออกจากค่าเสียหายจากการขายจึงชอบแล้วนั้นเป็นการพิพากษาขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ที่ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้างของลูกจ้างเพื่อชำระหนี้ของนายจ้าง เว้นแต่เป็นการหักเพื่อการชำระหนี้ต่าง ๆ ตาม (1) – (5) และการที่จำเลยหักค่านายหน้าจากการขายดังกล่าวก็มิใช่การหักเพื่อการชำระหนี้ตาม (1) – (5) การหักของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยจะต้องจ่ายเงินค่านายหน้าจากการขายตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 10เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (2)(3)(4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบและจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง” หมายความว่า ห้ามนายจ้างหักค่าจ้างค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้ที่ลูกจ้างเป็นหนี้นายจ้าง เว้นแต่การชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งตาม (1) – (5) คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 10 เป็นหัวหน้าพนักงานขาย มีสิทธิได้รับค่านายหน้า(ค่าคอมมิชชั่น) จากการขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่การตลาดสำหรับลูกค้ารายย่อยเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2544 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2544 โดยระบุไว้ในข้อ 2 ตอนท้ายว่า ความผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเสียหายของเจ้าหน้าที่การตลาดในความดูแลของหัวหน้าส่วน จะนำมาหักออกจากค่าตอบแทนของหัวหน้าส่วนที่ได้รับจากทีม ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธินำค่าเสียหายที่เกิดจากความผิดพลาดในส่วนความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 10 มาหักออกจากค่านายหน้า (ค่าคอมมิชชั่น) ที่โจทก์ที่ 10 มีสิทธิได้รับตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นซึ่งการหักเงินดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์การคำนวณค่านายหน้า (ค่าคอมมิชชั่น) ที่โจทก์ที่ 10มีสิทธิได้รับ มิใช่เป็นการนำค่าจ้างที่โจทก์ที่ 10 ได้รับมาหักเพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ที่ 10 เป็นหนี้จำเลย จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอส่วนนี้ของโจทก์ที่ 10 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 10 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามจำนวน 63,216บาท 153,168 บาท 21,293 บาท 20,000 บาท 30,000 บาท 25,000 บาท 25,000บาท 15,000 บาท 25,000 บาท 65,000 บาท 25,000 บาท 30,000 บาท 20,000บาท 25,000 บาท 63,202 บาท 15,000 บาท 16,610 บาท 10,966 บาท 25,000บาท 12,835 บาท 20,000 บาท 30,000 บาท 25,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share