คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน ย่อมอยู่ภายในบังคับแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 6 ซึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดที่สถาบันการเงินอาจคิดได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนั้นแม้สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในช่องกำหนดอัตราร้อยละต่อปีจะเว้นว่างไว้โดยไม่มีการพิมพ์ตัวเลข แต่สัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากผู้กู้ได้ และยังระบุอีกว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดให้เรียกจากผู้กู้ยืมได้ ซึ่งหมายความว่า หลังจากทำสัญญาแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาได้ในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ประกาศใช้บังคับใหม่ทันที โดยไม่จำต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้กู้และให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ครบถ้วน อันเป็นข้อตกลงที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมชัดแจ้งแล้ว และไม่ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดจะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินหรือไม่ก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยในอัตราต่าง ๆ ไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์พึงมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2535 จำเลยทั้งสามทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 4,000,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามได้รับเงินไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน2535 จำนวน 3,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5ของเดือน ภายหลังวันทำสัญญา หากมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลง จำเลยทั้งสามยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบ จำเลยทั้งสามได้นำที่ดินโฉนดเลขที่12247 ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 176 ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ในวงเงิน 1,000,000 บาทและ 3,000,000 บาท ตามลำดับ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ภายหลังได้มีการไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12247 ไปแล้ว และวันที่ 8 กันยายน 2536 จำเลยทั้งสามได้กู้เงินจากโจทก์อีกจำนวน 1,500,000 บาท โดยจำเลยทั้งสามได้รับเงินไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2536 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์และยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบ และจำเลยทั้งสามได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินจำนองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกเป็นหลายแปลงและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองรวมเป็นเงิน 4,500,000 บาท วันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยทั้งสามได้ทำคำขอเลื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับออกไปเป็นวันที่ 2 มิถุนายน 2540 โดยยอมรับว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2539 จำเลยทั้งสามมีภาระหนี้ค้างชำระต้นเงินตามสัญญากู้ทั้งสองฉบับจำนวน 1,000,000 บาท และ1,500,000 บาท ตามลำดับ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้อีก โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย เมื่อคิดถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ฉบับแรกจำนวน 175,568.39 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,175,568.39 บาท และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ฉบับที่สองจำนวน 445,448.56 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 1,945,448.56บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,121,016.95 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 3,121,016.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,000,000 บาท และ 1,500,000 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1402 ถึง 1413, 1423 ถึง 1425, 1427 ถึง 1440, 1442 และ 176ตำบลท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งสามให้การว่า สัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้และจำเลยได้ชำระต้นเงินกับดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินฉบับแรกให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนสัญญากู้เงินฉบับหลัง จำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้อยู่อีกไม่เกิน 522,832.93 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,121,016.95 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท และ 1,500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1402 ถึง 1413, 1423 ถึง 1425, 1427 ถึง 1440, 1442 และ 176ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามฎีกาว่า สัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.21 และจ.27 มีข้อความระบุเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีประกาศให้ธนาคารพึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงิน จึงถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ อันเป็นสถาบันการเงิน ย่อมอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2522 มาตรา 6 ซึ่งมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่ให้สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของประเทศตามที่บัญญัติในมาตรา 4 ของบทกฎหมายดังกล่าว แม้สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.21 และ จ.27แต่ละฉบับ ในช่องว่างระหว่างข้อความที่ว่า ในขณะทำสัญญากำหนดอัตราร้อยละต่อปีเว้นว่างไว้โดยไม่มีการพิมพ์ตัวเลขลงไว้ก็ตาม แต่สัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.21มีข้อความระบุว่า ผู้กู้ตกลงยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ และตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.27 ก็มีข้อความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไปที่ผู้ให้กู้ได้มีประกาศกำหนดให้เรียกจากผู้กู้ยืมได้ซึ่งสัญญากู้ทั้งสองฉบับมีข้อความทำนองเดียวกันว่า ผู้กู้ตกลงว่าถ้าภายหลังวันทำสัญญานี้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยตามสัญญาได้ในอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้ให้กู้ได้ประกาศใช้บังคับใหม่ทันที โดยผู้ให้กู้ไม่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงแก่ผู้กู้และให้ถือปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนกว่าผู้กู้จะได้ชำระหนี้ครบถ้วน ข้อความดังกล่าวย่อมมีความหมายชัดเจนว่า เป็นข้อตกลงที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมอันชัดแจ้งแล้วโดยให้โจทก์คิดได้ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมได้ และไม่ว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด จะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญากู้เงินหรือไม่ก็ตาม เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสามในอัตราต่าง ๆ นั้นไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์พึงมีสิทธิคิดได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share