แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พยานโจทก์เบิกความอ้างถึงการกู้ยืมเงินของจำเลยตามฟ้องเพียงฉบับเดียว ทั้งยืนยันว่าจำเลยผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 4,375 บาท รวม 30 เดือน หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์อีก เมื่อถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นเงิน 262,500 บาท รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระจำนวน 612,500 บาท ส่วนหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญารายอื่น ๆ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการที่พยานโจทก์ดังกล่าวตอบคำถามติงของทนายโจทก์ โดยโจทก์มิได้นำสืบว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่นอย่างไร มากน้อยเพียงใด อันจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์คำนวณยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระมาถูกต้องแล้ว แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะมีการคิดคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยต้องชำระเป็นรายเดือนและยอดหนี้ที่ค้างชำระไว้ชัดเจน แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความชัดเจนว่า เมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์เป็นงวด ๆ โจทก์นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่ค้างอย่างไร คงเหลือที่ค้างชำระเท่าใดและเป็นการหักชำระหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถือว่า โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์เป็นจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ ดังนี้ศาลจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยให้โจทก์นำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 612,500 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนขอให้นำทรัพย์สินที่จดทะเบียนจำนองไว้ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 399,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 30 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 32201 ตำบลเชียงรากน้อย (คลองซอยที่ 1 ฝั่งตก) อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมายื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 350,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้งโดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 32201 ตำบลเชียงรากน้อย (คลองซอยที่ 1 ฝั่งตก) อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ไว้เป็นประกัน จำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์รวม 4 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2537 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2538 รวมเป็นเงิน 63,000 บาท ต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2538 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์อีก 400,000 บาท จากนั้นจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมทั้งสองครั้งให้แก่โจทก์อีก 11 งวด ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2539 รวมเป็นเงิน 426,000 บาท โดยถือเป็นการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมทั้งสองฉบับสัญญาละครึ่งหนึ่ง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ในเดือนแรกจำเลยชำระเงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2537 จำนวน 12,000 บาท ซึ่งคำนวณแล้วมากกว่าจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระแก่โจทก์ ส่วนที่เหลือจึงต้องนำไปชำระหนี้ต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 จากนั้นจำเลยยังคงชำระหนี้แก่โจทก์เดือนละครั้งตลอดมาอีกหลายงวด แต่ละงวดเป็นจำนวนสูงกว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระ ซึ่งหากโจทก์นำส่วนที่เหลือจากการชำระดอกเบี้ยไปหักชำระหนี้ต้นเงิน ย่อมมีผลให้ต้นเงินและดอกเบี้ยลดน้อยลงไปตามลำดับ แต่ยอดหนี้ตามที่โจทก์นำมาฟ้องยังคงเป็นต้นเงิน 350,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเงิน 262,500 บาท เห็นได้ชัดว่าเป็นการคิดยอดหนี้มาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีมาไม่ถูกต้อง เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องคิดคำนวณหนี้มาให้ถูกต้องไว้ในฟ้องเพื่อให้จำเลยได้ตรวจสอบโต้แย้งซึ่งโจทก์ฎีกาคัดค้านว่า กรณีนี้นอกจากหนี้เงินกู้ยืมตามฟ้องแล้ว จำเลยเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อีกหลายฉบับ รวมเป็นหนี้กู้ยืม 1,450,000 บาท ต่อมามีการชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ จากนั้นวันที่ 4 ตุลาคม 2539 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มอีก 397,000 บาทและ 400,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นยอดหนี้ทั้งหมด 2,247,000 บาท ซึ่งหากคำนวณดอกเบี้ยจะได้เป็นเงินงวดละ 28,087.50 บาท การชำระดอกเบี้ยของจำเลยจำนวน 15 ฉบับ เป็นการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมต่าง ๆ ดังกล่าวทั้งหมด จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 329 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้นั้น เห็นว่า ตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มีนายฑีฆายุ มาเป็นพยานปากเดียวโดยอ้างถึงการกู้ยืมเงินของจำเลยตามฟ้องเพียงฉบับเดียว ทั้งยืนยันว่าจำเลยผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เดือนละ 4,375 บาท รวม 30 เดือน หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์อีก เมื่อถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี เป็นเงิน 262,500 บาท รวมทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระจำนวน 612,500 บาท ส่วนหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญารายอื่น ๆ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากการที่พยานโจทก์ดังกล่าวตอบคำถามติงของทนายโจทก์ โดยโจทก์มิได้นำสืบถึงรายละเอียดข้อตกลงการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมฉบับอื่น ๆ ไว้ด้วย ทั้งมิได้นำสืบว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่นอย่างไร มากน้อยเพียงใด อันจะเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์คำนวณยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระมาถูกต้องแล้ว ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า เมื่อมีหนี้อยู่หลายจำนวนรวมกันและลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้รวมกันแต่ละเดือน กรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 มาใช้บังคับนั้น ก็ไม่มีบทกฎหมายใดสนับสนุน จึงฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดโดยคิดคำนวณยอดหนี้มาอย่างชัดเจนแล้วไม่ได้ผลักภาระให้ศาลคิดคำนวณยอดหนี้ให้โจทก์นั้น เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะมีการคิดคำนวณยอดหนี้ที่จำเลยต้องชำระเป็นรายเดือนและยอดหนี้ที่ค้างชำระไว้ชัดเจนแต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความชัดเจนว่า เมื่อจำเลยผ่อนชำระหนี้คืนโจทก์เป็นงวด ๆ โจทก์นำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่ค้างอย่างไร คงเหลือที่ค้างชำระเท่าใด และเป็นการหักชำระหนี้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ถือว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยอดหนี้ที่จำเลยค้างชำระต่อโจทก์เป็นจำนวนที่แน่นอนไม่ได้ กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้เพราะไม่มีจำนวนหนี้ค้างชำระที่แน่นอน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ