คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินแปลงที่ 2 ตามคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ลงวันที่ 27 กันยายน 2545 เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงที่ 2 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 7 และระหว่างจำเลยที่ 7 กับที่ 8 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมและเพิกถอนการโอนและจดทะเบียนใส่ชื่อให้โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 2 ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ส่งมอบที่ดินแปลงที่ 2 คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงที่ 2 และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระราคาที่ดินแปลงที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 6,075,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ไม่สามารถส่งมอบ เพิกถอนการโอนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงที่ 2 ให้แก่โจทก์ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชำระราคาเป็นเงิน 38,880,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยดังกล่าวออกจากสารบบความ และหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจทั้ง 3 ฉบับ ตามฟ้องกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องแล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์กับพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ไปจนเสร็จสิ้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 โดยกำหนดค่าทนายความให้ทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทนายความจำเลยที่ 2 ทนายความจำเลยที่ 7 และทนายความจำเลยที่ 8 คนละ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่ง
ระหว่างพิจารณา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้ในส่วนของการปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมนั้น เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10207/2551 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ในการพิจารณาคดีนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 จึงให้ศาลชั้นต้นรอคดีนี้ไว้ก่อนจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาโดยให้คู่ความมีหน้าที่แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบ เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้วพร้อมส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกามาคนละ 1 ฉบับ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เคยจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้จดทะเบียนการหย่าเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 หลังจากนั้นโจทก์เปลี่ยนชื่อและชื่อสกุลหลายครั้ง โดยขณะฟ้อง โจทก์เปลี่ยนชื่อเป็นนางกุลรัศมิ์ หลังจากโจทก์จดทะเบียนการหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ได้ซื้อที่ดิน 2 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 เมื่อปี 2532 และปี 2534 โดยโจทก์เก็บรักษาโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไว้ตลอดมาจนถึงขณะฟ้อง แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 1 ให้นายสมศักดิ์ นำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2543 ซึ่งระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ โดยอ้างว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้สูญหาย และในการนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่า โฉนดที่ดินทั้งสองฉบับสูญหายไปจริง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ตามคำขอ โดยให้โจทก์ไปรับใบแทนโฉนดที่ดินด้วยตนเอง แต่โจทก์ไม่ได้ไปรับ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครจึงยกเลิกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ หลังจากนั้นวันที่ 27 กันยายน 2545 จำเลยที่ 1 ให้นายสมศักดิ์นำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 19 กันยายน 2545 ซึ่งระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับได้สูญหายไป และในการนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ให้ถ้อยคำยืนยันแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่าโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับสูญหายไปจริง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้ออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ โดยนายสมศักดิ์เป็นผู้รับใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไป ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2546 ซึ่งระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 ไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครเพื่อทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ประสงค์จะขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อของโจทก์ และโจทก์มีเจตนาจะขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 จริง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่จำเลยที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7747 ให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 และโอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 ให้แก่จำเลยที่ 7 ต่อมาจำเลยที่ 4 และที่ 5 ได้โอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7747 ให้แก่จำเลยที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 7 ได้โอนขายที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 ให้แก่จำเลยที่ 8 เมื่อปี 2547 จากนั้นปี 2548 เมื่อโจทก์ตรวจสอบทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดสมุทรสาครในความผิดเกี่ยวกับเอกสารและความผิดต่อเจ้าพนักงาน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และมาตรา 267 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดสมุทรสาครและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีกำหนด 4 ปี และพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14505/2557
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 และ 7747 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในคดีอาญาตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว ทั้งเมื่อพิจารณาถึงคำบรรยายฟ้องและข้อนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายในทั้งสองคดีก็มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์เป็นอย่างเดียวกันรวม 4 ประการคือ
1. จำเลยที่ 1 กับพวกทำหนังสือมอบอำนาจปลอมด้วยการลงลายมือชื่อของโจทก์ปลอมหรือไม่
2. จำเลยที่ 1 กับพวกนำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินหรือไม่
3. จำเลยที่ 1 กับพวกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินหรือไม่
4. จำเลยที่ 1 กับพวกแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือไม่
เมื่อคดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินของโจทก์ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกโจทก์ฟ้องในความผิดเกี่ยวกับเอกสารและความผิดต่อเจ้าพนักงาน การดำเนินคดีแพ่งของโจทก์คดีนี้จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า แม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม เนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ได้กระทำความผิดฐานปลอมลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก ก็ตาม แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดง ซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครหลงเชื่อว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 7747 และ 3215 ได้สูญหายไปจริงจึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลง ให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 7747 และ 3215 ของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 7747 และ 3215 อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ตามคำขอของโจทก์ และก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยไม่ขอให้ศาลเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 7747 และไม่ขอบังคับเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7747 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คดีจึงมีเหตุให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 เพียงฉบับเดียว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า เมื่อเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 แล้ว นิติกรรมรายการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยใบแทนโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวจะมีผลทางกฎหมายอย่างไร เห็นว่า เมื่อใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 ถูกเพิกถอนไป จำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจนำเอาใบแทนโฉนดที่ดินฉบับดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานในการทำนิติกรรมใด ๆ ได้ โดยโจทก์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 แต่เพียงผู้เดียว ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้จากของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 1 ก็ดี และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 7 ก็ดี จึงเป็นการทำนิติกรรมขายที่ดินของโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอม โจทก์จึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 7 และระหว่างจำเลยที่ 7 กับจำเลยที่ 8 ได้ และเป็นผลให้จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 ไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 แม้ว่าจำเลยที่ 7 และที่ 8 จะซื้อที่ดินโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน และจำเลยที่ 8 ต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินแปลงนี้ตามคำขอของโจทก์ ส่วนที่โจทก์มีคำขอว่าให้จำเลยทั้งหลายจดทะเบียนเพิกถอนการโอนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้นั้น เห็นว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบแทนโฉนดและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามที่ปรากฏในใบแทนโฉนดคำพิพากษาย่อมมีสภาพบังคับอยู่ในตัวและแสดงว่าโจทก์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเดิม โดยไม่จำต้องสั่งให้จำเลยเหล่านั้นจดทะเบียนใด ๆ อีก
ต่อไปที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระราคาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7747 แก่โจทก์ เป็นเงิน 6,000,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันชำระราคาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3215 แก่โจทก์ เป็นเงิน 38,880,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว และขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่รับโอนที่ดินต่อมาทุกทอด ให้จำเลยดังกล่าวร่วมกันดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมและเพิกถอนการโอน และจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนากับให้ส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน หากไม่สามารถส่งมอบและเพิกถอนการโอนและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ ก็ให้จำเลยดังกล่าวชดใช้ราคาที่ดินแทน สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิด สำหรับที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 7747 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เนื่องจากได้รับชำระเงินจากจำเลยดังกล่าวจำนวน 4,000,000 บาท จนเป็นที่พอใจ และขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 โดยไม่ประสงค์เรียกคืนที่ดินโฉนดเลขที่ 7747 แล้ว ตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระราคาที่ดินแปลงดังกล่าวได้อีก ส่วนที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 3215 เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินและเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวทุกทอด อันเป็นผลให้โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวดังเดิมแล้ว ย่อมไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งให้ใช้ราคาที่ดินแปลงดังกล่าวแทนหากไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามคำขอของโจทก์อีก โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอนและรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ยังปรากฏว่าในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดเกี่ยวกับเอกสารและความผิดต่อเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 ตามฟ้องโจทก์ เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้มีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจฉบับต่าง ๆ ตามที่โจทก์ฎีกา เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตามคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2545 ให้เพิกถอนนิติกรรม การซื้อขายที่ดินตามใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 3215 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 7 และระหว่างจำเลยที่ 7 กับจำเลยที่ 8 โดยให้จำเลยที่ 8 ส่งมอบที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3215 คืนแก่โจทก์ พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 7 และที่ 8 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share