แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อลงในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่า เป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้ ด. พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่า มีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับ น. ก็ดี การเพิ่มและการโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่ง น. พยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า ไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้ โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อถือว่า โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงดังกล่าวฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมลงนามกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่างๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่า จำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียว และตรวจพบว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับ ส. และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะ 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะของกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝากที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา บ้านเลขที่ 234 ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำสั่งขอให้เอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเฉพาะจำเลยที่ 3 ในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา บ้านเลขที่ 234 ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 959 ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมามีการจดทะเบียนแก้ไขกรรมการเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 คนเดียวมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 วันที่ 22 กรกฎาคม 2553 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทไว้กับจำเลยที่ 3 มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วไม่มีการไถ่ถอนการขายฝาก
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ ฯลฯ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างถึงเหตุเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเนื่องจากการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ ตั้งแต่การยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับนางสาวนันทวดี ของจำเลยที่ 1 การเพิ่มทุนและโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว ตลอดจนถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้ดำเนินการได้ จำเลยที่ 2 จึงเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นับตั้งแต่โจทก์สงสัยจำเลยที่ 2 ที่นำเอกสารต่างๆ ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทยนำมาให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เมื่อพิจารณาเอกสารแล้ว ก็ปรากฏว่าเป็นภาษาไทยในขณะที่โจทก์เป็นชาวต่างประเทศ จึงย่อมเป็นไปได้ว่า โจทก์ไม่เข้าใจความหมายในเอกสารดังกล่าว และเมื่อโจทก์มอบหมายให้นางเดือนพิไล พยานโจทก์ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 2 แล้วพบว่ามีการยื่นคำขอเพิ่มเติมจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการร่วมกับโจทก์กับนางสาวนันทวดีก็ดี การเพิ่มและโอนหุ้นไปเป็นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวก็ดี การเปลี่ยนแปลงกรรมการจำเลยที่ 1 มีแต่จำเลยที่ 2 คนเดียวก็ดี ซึ่งนางสาวนันทวดีพยานโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่าไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์ยังดำเนินการฟ้องร้องจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โดยพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อว่าการเข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว ฟังได้ว่า โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความให้เข้ามาดูแลกิจการและผลประโยชน์จำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และลงนามร่วมกับโจทก์ จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ยังมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการการเปลี่ยนแปลงเพิ่มทุนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้นำเอกสารต่าง ๆ มาให้โจทก์ลงลายมือชื่อเพื่อนำไปดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและเพิ่มหุ้น ต่อมาตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยที่ 2 หลอกให้โจทก์หลงเชื่อและสำคัญผิดในการจดทะเบียนเพิ่มทุนดังกล่าว และส่งผลให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเพิ่มทุนและโอนหุ้นให้แก่ตนเอง และทำการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 ให้คงเหลือเพียงจำเลยที่ 2 คนเดียว และตรวจพบว่าจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาท น.ส. 3 ก. เลขที่ 959 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โครงการพโนรามา ถนนนาใน ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับนายเสวก และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและนำไปขายฝากไว้กับจำเลยที่ 3 ราคา 15,000,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมไม่ว่าจดทะเบียนจำนอง จดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง และจดทะเบียนขายฝากดังกล่าวนั้น ไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นและกรรมการเพื่อดำเนินการทำนิติกรรมดังกล่าว มติที่จำเลยที่ 2 ไปกระทำในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ล้วนแต่เป็นเท็จ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า โจทก์ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ลงนามในเอกสารเปลี่ยนแปลงการเพิ่มทุนเป็นกรรมการร่วมกับโจทก์ ฯลฯ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว เป็นการกระทำโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เอกสารการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 2 จึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 เท่ากับไม่เคยมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว เท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทแก่จำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ลงชื่อในเอกสารจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อที่สองมีว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ทำโดยจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนหรือไม่ โดยจำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยสุจริตมีค่าตอบแทน ไม่ทราบเรื่องภายในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ฯลฯ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อนายอำเภอกะทู้ และนายอำเภอกะทู้มีคำสั่งรับอายัด ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาทเป็นระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป หลังจากนั้นวันที่ 29 มิถุนายน 2553 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการและหุ้น และฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และนายเสวก เป็นจำเลยที่ 3 ในข้อหาละเมิด เพิกถอนนิติกรรมจำนอง และเรียกค่าเสียหาย และนายประจักษ์ เจ้าพนักงานที่ดินชำนาญงานพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เบิกความว่า ด้านหลังจดทะเบียนขายฝากมีการจดทะเบียนบันทึกถ้อยคำว่า ผู้รับซื้อฝากทราบจากเจ้าหน้าที่แล้วว่าที่ดินแปลงพิพาทมีการอายัดที่ดินมาก่อน แต่ขณะนี้การอายัดสิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีการอายัดอีกต่อไป สามารถทำนิติกรรมได้ และได้รับทราบอีกว่า ที่ดินพิพาทมีการฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาล และจำเลยที่ 3 ให้ทนายความตรวจดูในสารบบแล้วไม่ติดใจ มีความหมายว่า จำเลยที่ 3 ทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทมีคดีฟ้องร้องกัน แม้จำเลยที่ 3 จะนำสืบว่าไม่ทราบว่ามีการฟ้องร้องเรื่องอะไร ปกติแล้วหากจำเลยที่ 3 สุจริตใจและมีทนายความ ควรให้ทนายความตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าหากจดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทแล้วจะกระทบกับการจดทะเบียนขายฝากหรือไม่ แต่จำเลยที่ 3 ไม่กระทำกลับยอมรับผลกระทำของตน การที่จำเลยที่ 3 ยังจดทะเบียนรับซื้อฝาก โดยรู้ว่าที่ดินพิพาทยังมีคดีพิพาทกันอยู่ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 รับจดทะเบียนซื้อฝากโดยไม่สุจริต จำเลยที่ 3 จึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 ในการจดทะเบียนรับซื้อฝาก ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 1 ที่ถูกจำเลยที่ 2 หลอกลวงให้ทำนิติกรรมเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 เพราะเป็นการเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำให้กลับคืนสภาพเดิม ส่วนเงินที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แล้ว เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 จะต้องเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 2 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อที่สามมีว่า โจทก์ไม่ได้มาเบิกความเป็นพยานด้วยตนเองคงมีแต่นางเดือนพิไล ผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความเป็นพยาน จึงต้องห้ามรับฟังเป็นพยานนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น (1) สามารถเข้าใจและตอบคำถามได้ และเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง…” ซึ่งนางเดือนพิไลเป็นทนายความของโจทก์รับทราบข้อเท็จจริงและปัญหาเกี่ยวกับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการโดยเข้าตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ของจำเลยที่ 1 การประชุมบริษัท การจดทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาทถือเป็นพยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเบิกความเป็นพยานมาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นพยานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 และข้อเท็จจริงบางส่วนที่ได้รับคำบอกเล่ามาจากโจทก์แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95/1 พยานโจทก์ปากนางเดือนพิไลจึงรับฟังได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้ออื่นไม่ทำให้ ผลคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท