แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำบรรยายฟ้องความผิดฐานเบิกความเท็จที่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา177 แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างมาตรา ผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2518 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบิกความต่อศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 8959/2517 หมายเลขแดงที่ 3982/2518ซึ่งโจทก์เป็นโจทก์ฟ้องนายวีระพนธ์ นวลเพชร์ กับพวกเป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นอันเป็นสาระสำคัญว่า นายวีระพนธ์ นวลเพชร์ กับนายชาญชัย เอี่ยมสิน เป็นหุ้นส่วนกันในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนางใจจริงหรือไม่ จำเลยทั้งสองสาบานตัวแล้วได้เบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล โดยนายชาญชัย เอี่ยมสินจำเลยที่ 1เบิกความว่า “พยานได้ลงทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนางใจเป็นเงิน 500,000บาท ผู้ร่วมงานสร้างภาพยนตร์ไม่ได้ตกลงเป็นหุ้นส่วนกันแต่อย่างใด ไม่ได้แบ่งผลกำไรให้ผู้ร่วมงานสร้างภาพยนตร์ แต่จ่ายให้เป็นเงินเดือน นายวีระพนธ์นวลเพชร์ จำเลยที่ 1 และนายสมจิตรจะนำเงิน 500,000 บาทไปฝากประจำในนามของพยานด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ การถอนเงินจากบัญชีฝากประจำในนามของพยานที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีย่าน มาเข้าบัญชีกระแสรายวันของนายวีระพนธ์ นวลเพชร์จำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเดียวกัน พยานไม่ทราบเรื่องด้วยทั้งไม่เคยเซ็นใบมอบอำนาจให้นายวีระพนธ์จำเลยที่ 1 ไปเบิกเงินหรือโอนเงินบัญชีเงินฝากประจำของพยานที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีย่านแต่อย่างใด”ความจริงนายชาญชัย เอี่ยมสินจำเลยที่ 1 ได้เข้าหุ้นร่วมกับนายวีระพนธ์ นวลเพชร์ นายสมใจ สุขฤทธิ์และนายสมจิตร การพร้อมสร้างภาพยนตร์เรื่องนางใจ และจำเลยที่ 1 ได้ฝากเงินประจำไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีย่าน โดยจำเลยที่ 1ได้เบิกเงินฝากนี้ด้วยตนเองและมอบให้นายวีระพนธ์ นวลเพชร์ เบิกเงินและโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของนายวีระพนธ์ นวลเพชร์ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีย่านหลายครั้ง คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความเท็จ ซึ่งศาลแพ่งได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาคดีนั้นว่า น่าเชื่อว่านายชาญชัย เอี่ยมสิน และนายวีระพนธ์ นวลเพชร์ ได้ร่วมกันเข้าหุ้นส่วนดำเนินการสร้างภาพยนตร์เรื่องนางใจจริง ส่วนนายสมจิตรการพร้อมจำเลยที่ 2 เบิกความว่า “การดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์ดังให้การมีแต่เบี้ยเลี้ยงไม่มีการตกลงเข้าหุ้นกันอย่างใด” ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงได้ตกลงเข้าหุ้นกันดังที่ศาลแพ่งได้วินิจฉัยแล้ว เหตุเกิดที่ศาลแพ่ง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180 วรรคแรก และมาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายอย่างใด และมิได้บรรยายในคำฟ้องว่าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าฟ้องโจทก์ตั้งข้อหาและบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 8959/2517 หมายเลขแดงที่ 3982/2518 ซึ่งโจทก์ฟ้องนายวีระพนธ์ นวลเพชร์กับพวกเป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นอันเป็นสาระสำคัญว่า นายวีระพนธ์ นวลเพชร์กับนายชาญชัย เอี่ยมสินเป็นหุ้นส่วนกันในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนางใจจริงหรือไม่ จำเลยทั้งสองเบิกความต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2518 อันเป็นความเท็จมีใจความว่า “ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนางใจ ไม่มีการตกลงเข้าหุ้นส่วนกันแต่อย่างใด” ซึ่งความจริง “จำเลยที่ 1 ได้เข้าหุ้นส่วนกับนายวีระพนธ์ นวลเพชร์” จึงเป็นคำบรรยายฟ้องที่เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยทั้งสองเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าในคดีก่อนได้พิพาทกันในข้อสำคัญอย่างไร การที่จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์เป็นคู่ความ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าทำให้โจทก์เสียหาย ส่วนโจทก์จะเสียหายอย่างไรเป็นเรื่องที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงกันต่อไป โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแล้ว การที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานเบิกความเท็จอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดฐานที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 มาตรา 13 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ระบุวันกระทำผิดแต่เพียงว่าวันที่ 3 มีนาคม 2518 หาได้ระบุว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนนั้นเห็นว่าฟ้องของโจทก์พอเข้าใจได้แล้วว่าหมายถึงเวลากลางวันซึ่งเป็นเวลาทำงานตามปกติของศาล ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว
พิพากษายืน