คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเอกชนมิใช่สถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามกฎหมายกำหนดให้คิดสูงสุดเพียงร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 และ ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะ ความข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่มุ่งรักษาความยุติธรรมมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไป และผลของการเป็นโมฆะตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คู่ความย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม และขณะที่จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมีความผูกพันที่จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อยู่ เพราะตามสัญญากู้ก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยมาทราบภายหลังว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้นต้องคืนให้จำเลยทั้งสอง หรือไม่ก็นำไปชำระเงินต้นที่ยังค้างอยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองนำสืบได้ว่าได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 17,000,000 บาท สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้เพียง 13,000,000 บาทเศษ จึงถือว่าได้จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้โจทก์ครบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,664,583.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นจำนวน 6,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2543 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท (ที่ถูกควรมีข้อความว่าคำขออื่นให้ยก)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นจำนวน 6,500,000 บาท นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2544 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ จำเลยที่ 1 เป็นมูลนิธิมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานมีอำนาจกระทำการแทน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นหุ้นส่วนของมูลนิธิจำเลยที่ 1 ร่วมกันจัดตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากฝ่ายโจทก์ไป 3 สัญญา สัญญาแรกกู้ยืมเงินจากนางลัดดา มารดาโจทก์ จำนวนเงิน 4,885,956 บาท ตามสัญญาต่างตอบแทนลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 ครั้งที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์ จำนวน 958,873 บาท ตามสัญญาเงินกู้ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2537 และครั้งที่ 3 ซึ่งโจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้โดยกู้ยืมเงินจากโจทก์อีกจำนวน 7,177,576 บาท ตามสัญญาเงินกู้ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2537 รวมเงินกู้ทั้งสามครั้งเป็นเงิน 13,022,405 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์แล้วหรือไม่ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า หลังจากกู้เงินไปแล้วจำเลยทั้งสองชำระเงินรวมเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสามสัญญาประมาณ 15,000,000 บาทขึ้นไป ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 19,000,000 บาทเศษ ตามใบเสร็จรับเงิน เมื่อคำนวณยอดเงินตามใบเสร็จรับเงิน แล้วเป็นเงิน 16,917,184 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตามสัญญากู้เงิน ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2537 ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปีเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ ข้อนี้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่ พ.ศ.2537 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2541 และร้อยละ 24 ต่อปี จากเดือนเมษายน 2541 จนถึงเดือนสิงหาคม 2543 และเมื่อตรวจดูบัญชีการคิดเงินก็ปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว เมื่อโจทก์เป็นเอกชนมิใช่เป็นสถาบันการเงินการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามกฎหมายกำหนดให้คิดสูงสุดเพียงร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปีนั้น จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะ ความข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่มุ่งรักษาความยุติธรรมมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไป และผลของการเป็นโมฆะตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คู่ความย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้นต้องคืนให้จำเลยทั้งสอง หรือไม่ก็นำไปชำระเงินต้นที่ยังค้างอยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองนำสืบได้ว่าได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 17,000,000 บาท สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้เพียง 13,000,000 บาทเศษ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ครบแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลชั้นต้นฟังว่าดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้น ถือว่าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยทั้งสองหามีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 นั้น เห็นว่า ขณะที่จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้นจำเลยทั้งสองมีความผูกพันที่จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อยู่ เพราะตามสัญญากู้ก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยทั้งสองมาทราบภายหลังว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี ดังนั้นจึงไม่อาจนำหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 มาปรับใช้กับกรณีของจำเลยทั้งสองได้ เมื่อฟังว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ครบแล้ว ประเด็นข้ออื่นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share