แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ส่วนข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างนั้นเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องของโจทก์หรือไม่ อันเป็นสาระแก่คดีของจำเลยโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 127)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 และมีความผิดฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดา และวัตถุมีพิษร้ายแรงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตและผลิตวัตถุมีพิษปลอมเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 มาตรา 11,12,13 ตรี,13จัตวา,36,37,38 ตรี ฯลฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษ ฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น จำคุก3 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษธรรมดาเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษร้ายแรงเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 เดือน ฐานผลิตวัตถุมีพิษปลอมเพื่อการค้า จำคุก3 ปี รวมจำคุก 3 ปี 9 เดือน ฯลฯ
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 123 แผ่นที่ 2)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 127)
ก่อนยื่นคำร้องนี้ จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงพร้อมกับยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่อายุฎีกาคดีนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 17 เมษายน 2531 ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ จำเลยขอยื่นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปก่อนหากผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว จำเลยขอถือฎีกาที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาของจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งว่า ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้ฎีกาได้(อันดับ 137)
ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในฎีกาว่า คดีนี้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาได้ จึงรับเป็นฎีกาจำเลย (อันดับ 123 แผ่นที่ 2)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามคำฟ้องและพยานหลักฐานโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว หาใช่กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงให้รับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายนี้