คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกเบิกความเท็จ และแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่า อ.เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้พิทักษ์กับคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่า อ. เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความและแสดงหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตร อ. ซึ่งเป็นความเท็จดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีทั้งสอง การเบิกความก็ดีการนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานก็ดี เป็นการกระทำต่อศาล เนื้อความก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ อ. มิได้เกี่ยวกับโจทก์ คดีเป็นเพียงเรื่องขอให้สั่งให้ อ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและไร้ความสามารถเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็นทายาทอันดับ 3 ความเท็จที่จำเลยเบิกความหรือนำสืบยังไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีในความผิดดังกล่าว ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้น โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ปลอมสูติบัตรของจำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งหกร่วมกันปลอมสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยทั้งหก แล้วใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลในคดีที่ร้องขอให้ อ. เป็นคนไร้ความสามารถ สูติบัตร และสำเนาทะเบียนบ้านต่างเป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึ้น หากจะมีการปลอมแปลงก็มิใช่เป็นการกระทำต่อโจทก์ ข้อความในสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่เกี่ยวกับโจทก์ การอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานก็กระทำต่อศาล มิได้กระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177,180, 264, 265, 268, 83, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาคดีอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180, 264, 265 และ 268สำหรับในข้อหาฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177กับข้อหาฐานนำสืบแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 180 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและทางนำสืบว่าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2524 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 5453/2524 ขอให้ศาลสั่งว่า นายอ๊อดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรเป็นผู้พิทักษ์และวันที่ 21 สิงหาคม 2524 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 11354/2524 ขอให้ศาลสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล และในการไต่สวนคำร้องของคดีแรก จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2เป็นบุตรของนายอ๊อดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความเท็จความจริงจำเลยที่ 2 มิได้เป็นบุตรนายอ๊อด และในการไต่สวนคดีหลังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เบิกความเช่นเดียวกับในการไต่สวนคดีแรกซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความเท็จและได้นำสืบแสดงสูติบัตรที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายอ๊อดกับจำเลยที่ 1 กับสำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงว่าจำเลยทั้งหกอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันกับนายอ๊อดซึ่งโจทก์อ้างว่าเอกสารทั้งสองฉบับจำเลยทั้งหกทำปลอมขึ้นเป็นและเป็นความเท็จ เช่นนี้ เห็นว่า ในคดีทั้งสองเรื่องดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง โจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีการเบิกความก็ดี การนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานก็ดี เป็นการกระทำต่อศาล เนื้อความก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายอ๊อดมิได้เกี่ยวกับโจทก์คดีก็เป็นเพียงเรื่องการขอให้สั่งให้นายอ๊อดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและไร้ความสามารถเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็นทายาทอันดับ 3 ความเท็จที่จำเลยเบิกความหรือนำสืบก็ยังไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีในความผิดสองข้อหานี้
ส่วนในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265 และ 268 นั้น โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ปลอมสูติบัตรของจำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งหกร่วมกันปลอมสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยทั้งหกขึ้น แล้วใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลในคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งให้นายอ๊อดเป็นคนไร้ความสามารถดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เห็นว่าสูติบัตรก็ดีสำเนาทะเบียนบ้านก็ดี เป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึ้นหากจะมีการปลอมแปลงอย่างไรก็มิใช่กระทำต่อโจทก์ และใจความตามเอกสารสูติบัตรก็เป็นการระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายอ๊อดส่วนสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุว่าจำเลยทั้งหกอยู่บ้านเดียวกับนายอ๊อดไม่เกี่ยวกับโจทก์แต่อย่างใด ส่วนการใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลก็เป็นการกระทำต่อศาล มิได้กระทำต่อโจทก์ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมในคดีนี้เช่นกัน ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่”
พิพากษายืน

Share