คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติเป็นความผิดโดยเฉพาะสำหรับเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อจำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุเป็นเพียงผู้ดูแลคอมพิวเตอร์และดูแลร้าน โดยร้านที่เกิดเหตุมี ส. เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ใบอนุญาตขาดอายุแล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อันจะมีความผิดตามมาตรา 38

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 31, 70 และ 76 พระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 20 และ 34 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และ 91 ให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) และ 70 วรรคสอง และพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 และ 34 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ลงโทษปรับ 50,000 บาท ฐานฉายและให้บริการเผยแพร่เทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 3,000 บาท รวมโทษทุกกระทงความผิด เป็นปรับ 53,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาฐานละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 ดังนั้น ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้อง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 และมาตรา 34 มานั้นจึงไม่ชอบ แต่การอ้างบทกฎหมายผิดดังกล่าว โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงตามฟ้องได้แล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า อนึ่ง ความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 ดังกล่าว มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้ลงโทษจำเลยปรับ 3,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับความผิดฐานนี้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 (4) อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าพยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดข้อหานี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่รับวินิจฉัยให้ และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังไว้ด้วย คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องพิจารณาว่า จำเลยมีความผิดฐานนี้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 38 บัญญัติว่า เจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 20 วรรคสอง บัญญัติว่า การฉายหรือการให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ในสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์จะต้องกระทำในวันและเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาต ดังนี้ แสดงว่าบทบัญญัติมาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มีเจตนารมณ์ที่จะบัญญัติเป็นความผิดโดยเฉพาะสำหรับเจ้าของหรือผู้จัดการสถานที่ที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยไม่ใช่เจ้าของร้านที่เกิดเหตุ เป็นเพียงผู้ดูแลคอมพิวเตอร์และดูแลร้านที่เกิดเหตุ โดยร้านที่เกิดเหตุมีนายสำเริง ประเสริฐศักดิ์ เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ แต่ใบอนุญาตขาดอายุแล้ว ปรากฏตามใบอนุญาตให้ฉายหรือให้บริการซึ่งเทปและวัสดุโทรทัศน์เอกสารหมาย จ. 12 แสดงให้เห็นว่า ร้านที่เกิดเหตุมีผู้อื่นดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุญาตฉายหรือให้บริการซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์อยู่แล้ว จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการสถานที่ให้บริการเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 38 ดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานฉายหรือให้บริการซึ่งเทปวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต คงปรับจำเลย 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share