แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ โดยมีอ.เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและอ. ได้นำที่ดินมาจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และหนี้ตามสัญญาค้ำประกันของ อ.ด้วยอ. ถึงแก่กรรมมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แม้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเกิน 1 ปีนับแต่ อ. ถึงแก่กรรม คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองก็ยังคงฟ้องบังคับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจากที่ดินที่จำนองได้ ตามมาตรา 189 และมาตรา 745.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทบต้นเป็นรายเดือนในวันเดียวกัน นายอำนาจ จิรันดร ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาฉบับลงวันที่ 19สิงหาคม 2520 นอกจากนี้ยังนำที่ดินโฉนดเลขที่ 955 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มาจดทะเบียนจำนองเฉพาะส่วน เป็นการประกันด้วย ต่อมานายอำนาจ จิรันดร ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดรจึงต้องรับผิดชอบแทนนายอำนาจ จิรันดร ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้คิดถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2525 เป็นเงิน 484,481.18 บาทโจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสองแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 484,481.18 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้ศาลยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ ถ้าได้เงินที่ขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีผูกพันเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น นายอำนาจ จิรันดร ตกลงกับโจทก์ว่าค้ำประกันและจำนองที่ดินประกันเพียง 100,000 บาทเท่านั้น โจทก์กรอกข้อความในสัญญาค้ำประกันหรือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนองเอาเองจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 นายอำนาจ จิรันดรตายเกิน 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ไม่ได้ ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 365,389.02 บาทรวมกับเงินดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่23 กุมภาพันธ์ 2524 ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2524 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2524จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบจำนวน ให้จำเลยที่ 2 ชำระส่วนที่ยังค้างชำระ แต่ไม่เกิน200,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 955 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมส่วนของนายอำนาจ จิรันดรพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ และถ้ายังไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นบังคับคดีจนครบ แต่รวมแล้วไม่เกินหนี้ 200,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 จนถึงวันที่ 17มีนาคม 2524 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 200,000 บาท ซึ่งรวมกับดอกเบี้ยทบต้นเข้าด้วยแล้ว นับแต่วันที่ 18 มีนาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2ไม่ชำระ หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 955 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ส่วนของนายอำนาจจิรันดร พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์และถ้ายังไม่พอชำระหนี้ ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจจิรันดร ผู้จำนองต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์ในจำนวนเงิน 200,000 บาทรวมทั้งดอกเบี้ยอีกต่างหากด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเฉพาะส่วนเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1ระบุว่า ‘ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินเฉพาะส่วนกรรมสิทธิ์ของตนแก่ผู้รับจำนองเป็นประกันหนี้การกู้เบิกเงินเกินบัญชีและหรือหนี้สินประเภทอื่นๆ ของนายสุวรรณ ศุภมงคล และหรือของผู้จำนองทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้หรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าอันจะพึงมีต่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด เป็นเงิน 200,000 บาทดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี’ จะเห็นได้ว่าตามสัญญาดังกล่าวนอกจากเป็นการประกันเพื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายสุวรรณ ศุภมงคล จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นแล้วยังเป็นการประกันเพื่อหนี้ของผู้จำนองคือนายอำนาจ จิรันดรเองซึ่งเป็นหนี้ผูกพันอยู่กับโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันอีกด้วย และแม้นายอำนาจ จิรันดร จะถึงแก่กรรมไปก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดร เป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 2 ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1754 แล้วก็ตาม ก็หาตัดสิทธิโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่จะบังคับชำระหนี้ค้ำประกันนั้นจากทรัพย์สินที่จำนองไม่ตามมาตรา 189 และมาตรา 745 ดังนั้นในการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดรที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาจำนอง จึงต้องนำหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.4 มาพิจารณาด้วย ตามหนังสือสัญญาดังกล่าว ข้อ 1 ระบุว่า ‘เนื่องในการที่ธนาคารได้ยอมให้นายสุวรรณ ศุภมงคล ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า ‘ลูกหนี้’ กู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญา ลงวันที่ 19สิงหาคม พ.ศ. 2520 เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง’ และข้อ 2 ระบุว่า ‘ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้…ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันที’ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อตกลงในสัญญาทั้ง 2 ข้อนั้น ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้อย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้จำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งรวมทั้งดอกเบี้ยอีกต่างหากตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอำนาจ จิรันดร เพื่อบังคับชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.