แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟอร์ตรอนในประเทศไทย ซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วมโดยโจทก์ร่วมจัดส่งสินค้าบรรจุถัง 200 ลิตร หรือดรัม ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 แบ่งบรรจุขวดขนาดเล็กแล้วปิดฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมนำออกจำหน่าย โดยตามสัญญาข้อ 10.1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนจำหน่ายได้รับมอบอำนาจให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยในช่วงอายุสัญญานี้เท่านั้น ดังนี้ในระหว่างที่สัญญามีผลผูกพันใช้บังคับกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามข้อสัญญานี้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งหลังจากเลิกสัญญากันแล้วจำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอีกต่อไป หากยังนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมไปใช้ย่อมอาจเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้า หรือเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมได้ จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมต่าง ๆ ล้วนแสดงให้เห็นได้ว่า สินค้าของกลางที่มีการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมติดอยู่ที่ขวดบรรจุสินค้าไม่ใช่สินค้าของโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายสินค้าของกลางโดยทั้งที่รู้ว่ามีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ติดไว้โดยผู้ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า อันถือได้ว่าเป็นการร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 114, 115, 117 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทฟอร์ตรอน ออโตโมทีฟ ทรีตเม้นท์ส พีทีวาย จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า โจทก์ร่วมเป็นบริษัทจำกัดในประเทศออสเตรเลีย ประกอบกิจการค้าขายสินค้าหลายประเภทรวมทั้งเบรก คลีนเนอร์ (BRAKE CLEANER) ทรัค เพาว์เวอร์ (TRUCK POWER) เอ็นจินแฟล็ช (ENGINE FLUSH) และฟูเอล บูสเตอร์ (FUEL BOOSTER) โดยใช้เครื่องหมายการค้า ฟอร์ตรอน (FORTRON) ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าในประเทศไทยแล้ว เมื่อปี 2536 โจทก์ร่วมทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟอร์ตรอนในประเทศไทยกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งตามสัญญานี้โจทก์ร่วมตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนนำเข้าและจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมในประเทศไทย ตามสัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟอร์ตรอนในประเทศไทย ซึ่งตามสัญญาเมื่อจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้า โจทก์ร่วมจะส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 โดยบรรจุในถังขนาดบรรจุ 200 ลิตร หรือที่เรียกว่า ดรัม และจำเลยที่ 1 จะนำไปแบ่งบรรจุขวดติดฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมเพื่อนำออกจำหน่ายในประเทศไทย ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่าย ซึ่งตามสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่ายนี้ เมื่อมีการเลิกสัญญากัน จำเลยที่ 1 จะต้องเก็บสินค้าออกจากตลาดภายใน 30 วัน หรือขายคืนแก่โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 กับภริยาได้ลงทุนร่วมกับนายเคน อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดของโจทก์ร่วมตั้งบริษัททรีเบล็กซ์ ออโตโมทีฟโปรดักส์ ในประเทศออสเตรเลีย เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทโกลด์ลีฟ จำกัด ในประเทศ และส่งมาให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายในประเทศไทย โดยเดิมโจทก์ร่วมก็สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทโกลด์ลีฟ จำกัด นี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหลังจากที่จำเลยที่ 1 เลิกสัญญากับโจทก์ร่วมแล้วมีสินค้าคงเหลือประมาณ 30 ถึง 40 ดรัม ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งให้บริษัทเชลล์ ออโต้เซิร์ฟ (ประเทศไทย) จำกัด ที่สั่งซื้อผ่านบริษัทฟอร์ช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และนายเบร็ด กรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ร่วมได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวกในความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ต่อมาพันตำรวจโทอธิพงษ์ ได้นำหมายค้นของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไปตรวจค้นที่ศูนย์บริการของบริษัทเชลล์ ออโต้เซิร์ฟ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาถนนนวลจันทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร และยึดได้สินค้าผลิตภัณฑ์ทรัค เพาว์เวอร์ 2,100 ขวด ผลิตภัณฑ์โฟดอล บูสเตอร์ 2,050 ขวด ผลิตภัณฑ์เบรก แอนด์ ครีน 3,500 ขวด และผลิตภัณฑ์เอ็นจิน แฟล็ช 2,500 ขวด ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “FORTRON” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมเป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์กับโจทก์ร่วมและพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองที่นำสืบตรงกันได้ความว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟอร์ตรอนในประเทศไทย ซึ่งจำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ร่วมโดยโจทก์ร่วมจัดส่งสินค้าบรรจุถัง 200 ลิตร หรือดรัม ให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 แบ่งบรรจุขวดขนาดเล็กแล้วปิดฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมนำออกจำหน่าย โดยตามสัญญาข้อ 10.1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนจำหน่ายได้รับมอบอำนาจให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยในช่วงอายุสัญญานี้เท่านั้น ดังนี้ในระหว่างที่สัญญามีผลผูกพันใช้บังคับกัน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมตามข้อสัญญานี้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งหลังจากเลิกสัญญากันแล้วจำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอีกต่อไป หากยังนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมไปใช้ย่อมอาจเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้า หรือเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมได้ และยังได้ความอีกว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้าของกลางที่เป็นผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ตามฟ้องรวม 10,150 ขวด ให้แก่บริษัทเชลล์ ออโต้เซิร์ฟ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนเมษายน 2548 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ต้องนำผลิตภัณฑ์ในถัง 200 ลิตร มาแบ่งบรรจุใส่ขวดและติดฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมทั้งที่เลิกสัญญากันแล้ว นอกจากนี้ตามคำเบิกความของนายเบร็ด กรรมการโจทก์ร่วม และนายถานันดร์ซึ่งเคยเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าของโจทก์ร่วมจากจำเลยที่ 1 ไปจำหน่ายโดยได้รับค่าตอบแทนจากจำเลยที่ 1 คิดเป็นร้อยละของกำไรจากการขาย ที่เบิกความเป็นทำนองเดียวกันว่า ยอดขายสินค้าผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยสูงกว่ายอดการนำเข้า โดยนายถานันดร์เป็นผู้สั่งสินค้าผลิตภัณฑ์จากจำเลยที่ 1 เพื่อส่งขายแก่บริษัทเชลล์ ออโต้เซิร์ฟ (ประเทศไทย) จำกัด จึงทราบรายละเอียดการขายดี เมื่อตรวจสอบกับนายเบร็ดและใบอินวอยซ์แสดงการสั่งซื้อสินค้าของจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมแล้วก็สามารถคิดคำนวณยอดผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ร่วมและนำออกขายได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 ขายมากกว่าจำนวนที่สั่งซื้อจากโจทก์ร่วม ประกอบกับที่นายเบร็ดเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมสืบทราบว่า นายเคนได้ร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 2 และภริยาจำเลยที่ 2 จัดตั้งบริษัททรีเบล็กซ์ ออโตโมทีฟ โปรดักส์ จำกัด และบริษัทได้สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทโกลด์ลีฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่ขายสินค้าให้โจทก์ร่วมซึ่งจำเลยทั้งสองก็นำสืบรับในข้อเท็จจริงดังกล่าว และเป็นข้อเท็จจริงที่ส่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 น่าจะสั่งซื้อสินค้าผ่านบริษัททรีเบล็กซ์ ออโตโมทีฟ โปรดักส์ จำกัด เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย จึงทำให้มีสินค้าจำหน่ายในประเทศไทยมากกว่าสินค้าที่สั่งซื้อจากโจทก์ร่วม ทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนางสาวปทิตตา ซึ่งเคยรับราชการเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับ 8 กรมวิทยาศาสตร์บริการ มาเบิกความว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งสินค้าของกลางมาให้พยานตรวจเปรียบเทียบสินค้าของโจทก์ร่วมว่า เป็นสินค้าที่มีสารที่เป็นส่วนผสมเหมือนกันหรือไม่ พยานตรวจแล้วพบว่าสินค้ารายการเบรก แอนด์ พาร์ตส์ คลีนเนอร์ มีส่วนผสมเป็นสารต่างชนิดกัน สินค้ารายการเอ็นจิน แฟล็ช มีสารคล้ายคลึงกัน สินค้ารายการบูสเตอร์ ทรีทเมนท์ และรายการทรัค เพาว์เวอร์ ก็มีสารต่างกันทั้งสองรายการ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบหักล้างพยานปากนี้และจำเลยที่ 2 ยังกลับเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่า ผลการตรวจที่มีความแตกต่างมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 นำสารเคมีหลายชนิดบรรจุลงไปในขวด จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ล้วนแสดงให้เห็นได้ว่า สินค้าของกลางที่มีการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมติดอยู่ที่ขวดบรรจุสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าของโจทก์ร่วม และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้จำหน่ายสินค้าของกลางโดยทั้งที่รู้ว่ามีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ติดไว้โดยผู้ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า อันถือได้ว่าเป็นการร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมนั่นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นความผิดฐานเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 ให้ปรับ 40,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 40,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ