คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้
ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และการเลิกจ้างที่นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่ บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119ข้อใดข้อหนึ่ง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่มีผู้ร่วมลงทุนใหม่ แม้เป็นเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่ทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งมิได้เป็นเหตุที่ทำให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยอ้างว่า ขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่มีเงินจ่ายโดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 60,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน 10,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่มีผู้ร่วมลงทุนใหม่ เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่าการที่จะพิจารณาว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่มีผู้ร่วมลงทุนใหม่ซึ่งแม้จะเป็นเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่ทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งมิได้เป็นเหตุที่ทำให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงยังต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

พิพากษายืน

Share