คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13687/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10 ที่ ค. ผู้ตายค้ำประกันบริษัท ล. จำกัด ผู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารจำเลย ระบุว่า ข้อ 2 ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 4 ในกรณีที่ผู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดนัด ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะต่อสู้ให้ธนาคารบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิด ถ้าธนาคารมิได้รับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันยินยอมชำระหนี้ที่ค้างโดยพลันถึงแม้การดำเนินการเช่นนั้นธนาคารจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก่อนก็ตาม และถึงแม้จะมิได้เรียกร้องหรือฟ้องร้องผู้ค้ำประกันร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชี ดังนี้ ผู้ตายเป็นเจ้าหนี้จำเลยในเงินฝากประจำ 3 เดือน และจำเลยเป็นหนี้ผู้ตายตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งผู้ตายและจำเลยต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระ เมื่อผู้ค้ำประกันตายความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ระงับสิ้นไป ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยวิธีหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยมีสิทธินำเงินฝากของผู้ตายหักชำระหนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,831,972.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 9,033,782.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 9,033,782.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและ ค่าทนายความทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธินำเงินฝากประจำของผู้ตายหักชำระหนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชี ที่นายคงศักดิ์ ผู้ตายค้ำประกันบริษัทโลหะตะกั่วไทย จำกัด ผู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารจำเลยระบุว่า ข้อ 2 ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 4 ในกรณีที่ผู้เบิกเงินเกินบัญชีผิดนัด ผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิที่จะต่อสู้ให้ธนาคารบังคับเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของผู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิด ถ้าธนาคารมิได้รับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจึงยินยอมจะชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่โดยพลัน ถึงแม้ว่าการดำเนินการเช่นว่านั้นธนาคารจะได้แจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก่อนก็ตาม และถึงแม้จะมิได้เรียกร้อง หรือฟ้องร้องผู้ค้ำประกันร่วมกับผู้เบิกเงินเกินบัญชี ดังนี้ ผู้ตาย เป็นเจ้าหนี้จำเลยในเงินฝากประจำ 3 เดือน และจำเลยเป็นเจ้าหนี้ผู้ตายตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงิน เกินบัญชี ซึ่งผู้ตายและจำเลยต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระ เมื่อผู้ค้ำประกันตายความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่ระงับสิ้นไป ลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จำเลยมีสิทธินำเงินฝากประจำของผู้ตายหักชำระหนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยจึงใช้สิทธิแจ้งการหักกลบลบหนี้ไปยังโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดชำระแล้วนั้นได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสำเนาการ์ดบัญชีกระแสรายวันของบริษัทโลหะตะกั่วไทย จำกัด ระบุว่ายังคงมีดอกเบี้ยค้างชำระสะสมจำนวน 55,153.77 บาท อีกทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้นำเงินจำนวน 9,033,782.50 บาท ไปหักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด คิดคำนวณถูกต้องหรือไม่นั้น นอกคำฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share