คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา16วรรคสองเพียงแต่บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียนไปให้ทราบตามวรรคหนึ่งของมาตรา16มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา19ทวิได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนนั้นโดยมิได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นใช้สิทธิดำเนินคดีทางศาลโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทอันจดทะเบียนไว้ในประเทศฝรั่งเศสได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของส.ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วต่อมาส. ได้โอนให้จำเลยโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้คณะกรรมการรอการวินิจฉัยไว้ก่อนซึ่งคณะกรรมการได้มีคำสั่งให้รอการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เพื่อรอคำพิพากษาของศาลการที่โจทก์คดีขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของโจทก์แพร่หลายมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้วทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ไว้ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศต่างๆไม่น้อยกว่า90ประเทศจึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยผู้ที่จดทะเบียนไว้แล้วขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา41(1)โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นการที่โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา16วรรคสองอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามิใช่เป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา22วรรคสี่(1)อันเป็นกรณีที่มีผู้คัดค้านการขอจดทะเบียนแล้วนายทะเบียนได้ให้คำวินิจฉัยกรณีนี้ไม่มีการคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์แต่เป็นเรื่องที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์เองเพราะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วกรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา22และไม่ตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงจะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของส. และต่อมาส. โอนสิทธิเครื่องหมายการค้าให้จำเลยโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนและทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา41(1)สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลโดยฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่สิ้นไป โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยเพราะได้ใช้มาก่อนซึ่งเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2474มาตรา41(1)โจทก์หาได้ฟ้องคดีเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าโจทก์ตามมาตรา29ไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “KICKERS” อ่านว่า คิดเคอร์ส โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศต่าง ๆไม่น้อยกว่า 90 ประเทศ และได้จำหน่ายสินค้า เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายรองเท้า และสินค้าอื่น ๆ อีกหลายชนิดภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งในประเทศฝรั่งเศสและประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกสินค้าของโจทก์ได้รับความนิยมจากสาธารณชนทั่วไป โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในจำพวก 38 สินค้าจำพวกเครื่องนุ่งห่มและเครื่องห่อหุ้มเท้า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “KICKERS” ตามคำขอเลขที่ 76676 ของนายสิทธิพร เตียจันทร์พันธ์ โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารอการวินิจฉัยไว้ก่อน คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้รอการวินิจฉัยไว้เพื่อรอคำพิพากษาของศาล นายสิทธิพรได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่76676 โดยนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “KICKERS” ของโจทก์มายื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนเอง เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์และทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ต่อมาโจทก์ตรวจพบว่านายสิทธิพรได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2530 แต่เนื่องจากนายสิทธิพรไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่แท้จริง จำเลยในฐานะผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยแท้จริง หากศาลไม่เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย จะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดและความเป็นเจ้าของของเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์และจำเลยได้ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “KICKERS” ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 76676 ทะเบียนเลขที่ 49307หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 76676 ทะเบียนเลขที่ 49307 กับสินค้าของจำเลย และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า”KICKERS” กับสินค้าของจำเลยต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพราะต้องห้ามตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องเพื่อป้องกันหรือเรียกร้องค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย เพียงแต่อ่านออกเสียงในภาษาอังกฤษคล้ายคลึงกัน แต่ออกเสียงเป็นภาษีฝรั่งเศสแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เป็นตัวสามัญ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวพิมพ์เล็ก แตกต่างกันมองเห็นได้ชัด ไม่ทำให้สับสนหรือผิดหลงก่อนฟ้องโจทก์ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์จะดำเนินคดีทางศาลในกรณีเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 22 วรรคสี่ (1) ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 แม้โจทก์จะขอให้รอการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ ก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องคดีได้เพราะขัดต่อมาตรา 22 ดังกล่าว นอกจากนี้โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน สิทธิการนำคดีสู่ศาลของโจทก์ตามมาตรา 22 วรรคสี่ (2) ก็สิ้นไปแล้วเช่นกัน นายสิทธิพรได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าตลอดมาโดยสุจริตนับแต่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อจำเลยได้รับโอนเครื่องหมายการค้ามา จำเลยก็ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของจำเลยตลอดมา นายสิทธิพรเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันแท้จริง โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้ก่อน โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยเอาสินค้าไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474มาตรา 29 วรรคสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อนายทะเบียนปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 16 วรรคสอง บัญญัติให้โจทก์ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพียงทางเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สภาพแห่งข้อหาของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วและขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตา 16 วรรคสองและมาตรา 22 วรรคสี่ (1) พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี รวมทั้งประเด็นที่ว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่ากัน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่ามาตา 16 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 บัญญัติให้โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการในทางเดียวเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และเมื่อโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์2534 โจทก์ก็หมดสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องศาลนั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”ถ้านายทะเบียนเห็นว่าเครื่องหมายการค้ารายใดมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 5 หรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของอื่นได้นำมาจดทะเบียนไว้แล้ว เพื่อสินค้าจำพวกเดียวกัน หรือเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายเช่นนี้ว่าจนถึงนับว่าเป็นการลวงสาธารณชน หรือถ้านายทะเบียนเห็นว่าการมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนและให้นายทะเบียนมีหนังสือแจ้งเหตุไม่รับจดทะเบียนนั้นไปให้ผู้ขอจดทะเบียนทราบ” และวรรคสองบัญญัติว่า “ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียน ผู้จดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19 ทวิโดยยื่นต่อนายทะเบียน” ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 16 วรรคสองดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่รับจดทะเบียนไปให้ทราบตามวรรคหนึ่งของมาตรา 16 มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 19 ทวิ ได้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเหตุที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนนั้นโดยมิได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นใช้สิทธิดำเนินคดีทางศาลแต่อย่างใด คดีนี้โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทอันได้จดทะเบียนไว้ในประเทศฝรั่งเศสได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายพิพาท แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของนายสิทธิพร เตียจันทร์พันธ์ ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วและต่อมานายสิทธิพรได้โอนให้จำเลย โจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้คณะกรรมการนั้นรอการวินิจฉัยไว้ก่อน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้มีคำสั่งให้รอการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไว้เพื่อรอคำพิพากษาของศาล การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โดยโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทได้ใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของโจทก์แพร่หลายมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ไว้ในประเทศฝรั่งเศสและประเทศต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า90 ประเทศ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยผู้ที่จดทะเบียนไว้แล้ว ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1)โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้ กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2509ระหว่างบริษัทอุยเฮงเภสัช จำกัด โจทก์ กรมทะเบียนการค้ากับพวกจำเลย ที่จำเลยอ้างไม่ตรงกับกรณีในคดีนี้โดยกรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ขอจดทะเบียนฟ้องกรมทะเบียนการค้าและนายทะเบียนซึ่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นจำเลยและขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ขอจดทะเบียนฟ้องผู้ที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วเป็นจำเลยโดยขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการไม่รับจดทะเบียนจากนายทะเบียน โจทก์ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนหรือนำคดีมาสู่ศาลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา 22 วรรคสี่ (1)ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งโจทก์ได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว โจทก์จะดำเนินคดีทางศาลในกรณีเดียวกันอีกมิได้ ต้องห้ามมาตรา 22 วรรคสี่ และแม้โจทก์ขอให้รอการพิจารณาอุทธรณ์ไว้ก็ไม่มีผลทำให้ฟ้องคดีนี้ได้ เพราะขัดต่อมาตราดังกล่าว ทั้งโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของนายทะเบียน สิทธิในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์จึงสิ้นไปแล้วนั้น เห็นว่าที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้นเป็นการที่โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนได้ใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 16 วรรคสองของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเช่นนั้น หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามมาตรา 22 วรรคสี่ (1) ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 อันเป็นกรณีที่มีผู้คัดค้านการขอจดทะเบียน แล้วนายทะเบียนได้ให้คำวินิจฉัย กรณีในคดีนี้ไม่มีการคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์เองเพราะเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนนั้นเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 22 ดังกล่าว และหาตัดสิทธิของโจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงจะดำเนินคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของตนไม่ ดังนั้นเมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของนายสิทธิพร และต่อมานายสิทธิพรโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นให้จำเลย โจทก์ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำขอจดทะเบียนและทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามมาตรา 41(1) ของพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาสู่ศาลโดยฟ้องจำเลยต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่สิ้นไปฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพราะต้องห้ามตามมาตรา 29 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งบัญญัติว่า”เมื่อได้ใช้พระราชบัญญัตินี้ห้าปี ท่านว่าผู้ใดจะนำคดีสู่ศาลเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนั้นไม่ได้” พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 ใช้มาเกินกว่า 5 ปีแล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ไม่ได้ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยเพราะได้ใช้มาก่อน อันเป็นการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) โจทก์หาได้ฟ้องคดีเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ไม่โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศก็ตาม ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิให้พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยด้วยนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรแก้ให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share