คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สำเนาธนบัตรของกลางเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดาแล้วตัดกระดาษให้มีขนาดเท่าของจริงสีสันปรากฏออกมาจึงแตกต่างกับของจริงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าขนาดของกระดาษและรูปลวดลายที่ปรากฏออกมาจากการถ่ายสำเนาจะเท่าของจริงก็ตาม แต่เมื่อรวมความกับสีสันที่ปรากฏออกมาแล้วบุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ทันทีว่าเกิดจากการถ่ายเอกสาร แตกต่างกับของจริงโดยชัดเจนและไม่น่าจะทำให้บุคคลหลงเข้าใจผิดได้ว่าเป็นของจริง อีกทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก. พยานโจทก์ได้หลงเข้าใจผิดว่าสำเนาธนบัตรของกลางเป็นของจริงแต่อย่างใด แม้ตาม ป.อ. มาตรา 249 จะมิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า การทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา จะต้องกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริง แต่คำว่าคล้ายคลึง แสดงว่าเกือบเหมือนหรือไม่ต้องเหมือนทีเดียว เพียงแต่มีลักษณะสีสันรูปร่างและขนาดคล้ายเงินตราที่แท้จริงก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ เมื่อสำเนาธนบัตรของกลางเห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดา สีสันในส่วนสำเนาธนบัตรก็เป็นเพียงสีขาว มิได้มีสีสันเหมือนธนบัตรฉบับจริง แม้ว่าขนาดของกระดาษจะเท่าของจริง เมื่อวิญญูชนทั่วไปดูแล้วย่อมทราบได้ทันทีว่าไม่ใช่ธนบัตรที่แท้จริง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 240, 249 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18, 41, 62, 81 และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 กรณีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ฐานอยู่ในราชอาณาจักรไทยเมื่อการอนุญาตสิ้นสุด จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี 2 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี ริบของกลางข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามฐานทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานร่วมกันทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายกับธนบัตรหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า สำเนาธนบัตรเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดาแล้วตัดกระดาษให้มีขนาดเท่าของจริง สีสันปรากฏออกมาจึงแตกต่างกับของจริงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าขนาดของกระดาษและรูปลวดลายที่ปรากฏออกมาจากการถ่ายสำเนาจะเท่าของจริงก็ตาม แต่เมื่อรวมความกับสีสันที่ปรากฏออกมาแล้วบุคคลทั่วไปสามารถได้ทันทีว่าเกิดจากการถ่ายเอกสาร แตกต่างกับของจริงโดยชัดเจนและไม่น่าจะทำให้บุคคลหลงเข้าใจผิดได้ว่าเป็นของจริง อีกทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายเกื้อกูล กลับใจ พยานโจทก์ได้หลงเข้าใจผิดว่าสำเนาธนบัตรเป็นของจริงแต่อย่างใด ที่โจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 บัญญัติไว้แต่เพียงว่าผู้ใดทำบัตรหรือโลหธาตุอย่างใดๆ ให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ฯลฯ โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อบัญญัติถึงเจตนาพิเศษว่า การทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตราจะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริงแต่อย่างใดที่จำเลยทั้งสามมีเจตนาทำธนบัตรโดยการถ่ายสำเนาธนบัตรแล้วตัดกระดาษให้มีขนาดเท่าของจริง แม้จะมีสีสันแตกต่างก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพราะคำว่าคล้ายแสดงถึงไม่เหมือนทีเดียวนั้น เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 จะมิได้บัญญัติไว้ด้วยว่า การทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา จะต้องกระทำเพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่าเป็นธนบัตรที่แท้จริง แต่คำว่าคล้ายคลึง แสดงว่าเกือบเหมือนหรือไม่ต้องเหมือนทีเดียว เพียงแต่มีลักษณะสีสันรูปร่างและขนาดคล้ายเงินตราที่แท้จริงก็เป็นความผิดตามมาตรานี้ เมื่อสำเนาธนบัตรเห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากการถ่ายสำเนาธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท ของจริงลงในกระดาษธรรมดา สีสันในส่วนสำเนาธนบัตรก็เป็นเพียงสีขาว มิได้มีสีสันเหมือนธนบัตรฉบับจริง แม้ว่าขนาดของกระดาษจะเท่าของจริง เมื่อวิญญูชนทั่วไปดูแล้วย่อมทราบได้ทันทีว่าไม่ใช่ธนบัตรที่แท้จริง กรณีจึงถือว่าไม่ได้จำเลยทั้งสามร่วมกันทำบัตรให้มีลักษณะและขนาดคล้ายคลึงกับเงินตรา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share