คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4533/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุประมาณ 6 ถึง 7 เดือน จำเลยเคยมีอาการผิดปกติทางจิตและเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล และตามคำเบิกความของแพทย์หญิง ก. พยานจำเลยกับใบรับรองแพทย์ซึ่งระบุว่าจำเลยเป็นโรคจิตประเภทชนิดหวาดระแวงประกอบกับรายงานการวินิจฉัยโรคของโรงพยาบาลนิติจิตเวชซึ่งระบุเช่นกันว่าป่วยเป็นโรคจิต จึงเชื่อว่าจำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต แต่ข้อเท็จจริงได้ความอีกว่า ขณะเกิดเหตุ อ. อยู่ใกล้กับจำเลยและเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยด้วย แต่จำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงหรือทำร้าย อ. แต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้สึกผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง
จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวต่อเนื่องเป็นหลายกรรมต่างกัน ต้องปรับบทลงโทษจำเลยประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปด้วย การปรับบทลงโทษแม้คู่ความจะมิได้ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371,392, 80, 91, 33 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 53, 371, 392 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสาม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญจำคุก 1 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ข้อหาเสพแอมเฟตามีนให้ยก ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 2 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วยแล้วเป็นจำคุก 3 ปี 5 เดือน เห็นว่า จำเลยเป็นผู้มีจิตบกพร่องและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาจิตใจที่โรงพยาบาลนิติจิตเวชโดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยยิงผู้ตายถูกที่ศีรษะและลำคออันเป็นอวัยวะสำคัญ บ่งชี้ว่าได้ยิงโดยเล็งเป้าก่อนเหนี่ยวไกปืน แสดงว่ายิงขณะรู้ตัวดีสามารถบังคับตนเองได้ หากยิงในขณะจิตฟั่นเฟือนกระสุนปืนย่อมไม่ถูกอวัยวะสำคัญและการที่จำเลยไม่ยิงนายเอกชัยเพราะจำเลยรู้ว่าเป็นหลานของตน ยิ่งเป็นสิ่งประกอบว่าจำเลยรู้ตัวดีทั้งก่อนยิงจำเลยได้เรียกผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้เข้าไปหา เป็นการเตรียมการจะฆ่าผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาก่อน ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายที่ 3ซึ่งเป็นภริยาจำเลยเบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 6 เดือนถึง7 เดือน จำเลยเคยมีอาการผิดปกติทางจิต และเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรีหัวหิน วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 03.30 นาฬิกา จำเลยตื่นนอนมีอาการผิดปกติสังเกตจากคำพูด ดวงตา และสีหน้าเคร่งเครียด พยานเห็นจำเลยนำพระพุทธรูปมาวางที่เตียงนอนพร้อมกับหยิบเทียนไข 1 เล่ม มาใช้มือรูดขึ้นลงและพูดบ่นพึมพำ ไม่รู้เรื่องอยู่ประมาณ 10 นาทีถึง 15 นาที ก็นั่งพัก หลังจากนั้นจำเลยหยิบเสื้อผ้าออกมาใส่เสร็จแล้วถอดออกนำไปเก็บในตู้แล้วก็หยิบออกจากตู้มาใส่อีก โดยทำอยู่หลายครั้ง ผู้เสียหายที่ 3รู้สึกว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตมากขึ้น จึงบอกจำเลยว่าจะพาไปรักษาที่โรงพยาบาลธนบุรี หัวหิน โดยผู้เสียหายที่ 3 ได้ขอให้นายเอกชัย แพรเขียว หลายจำเลยช่วยขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่โรงพยาบาล แต่นายเอกชัยขับรถไม่เป็น จึงขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนช่วยขับรถยนต์ให้ ผู้เสียหายที่ 1 มาเที่ยวบ้านนายเอกชัยพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน คือผู้ตายและผู้เสียหายที่ 2 นายเอกชัยจึงชวนผู้ตายและผู้เสียหายที่ 2 นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยและผู้เสียหายที่ 3 ด้วย โดยจำเลยขอให้ไปพบเพื่อนที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์เพื่อทวงหนี้ก่อน แต่ไม่พบเพื่อนจำเลย จึงเดินทางต่อและแวะไหว้ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์อีก โดยข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสามและนายเอกชัยตรงกันว่า ผู้ตาย ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยพบไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนวันเกิดเหตุและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน ตอนนั่งรถยนต์มาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายที่ 3 นั่งตอนหน้ารถ ส่วนนายเอกชัยผู้ตาย และผู้เสียหายที่ 2 นั่งอยู่กระบะหลังรถ ก่อนจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลหลักเมืองก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับบุคคลดังกล่าว จำเลยคงเรียกผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เข้าไปหาบนศาลหลักเมือง แล้วชักอาวุธปืนยิงผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยไม่มีสาเหตุซึ่งบุคคลธรรมดาทั่วไปไม่กระทำเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 ที่ว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 6 เดือนถึง 7 เดือน จำเลยเคยมีอาการผิดปกติทางจิต และเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล กับคำเบิกความของแพทย์หญิงกลวดี วิสุทธิโกศล พยานจำเลยและใบรับรองแพทย์ตามเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งระบุว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวงประกอบกับรายงานการวินิจฉัยโรคของโรงพยาบาลนิติจิตเวชตามเอกสารหมาย ล.3ซึ่งระบุเช่นกันว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิต แล้วเชื่อว่าจำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิตแต่ข้อเท็จจริงได้ความอีกว่าขณะเกิดเหตุนายเอกชัยก็อยู่ใกล้กับจำเลยและเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยด้วย แต่จำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายเอกชัยหรือทำร้ายนายเอกชัยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้สึกผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เพียงเป็นว่าให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก2 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 1 ปี ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวต่อเนื่องเป็นหลายกรรมต่างกันต้องปรับบทลงโทษจำเลยประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปด้วย และในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสาม ยังไม่ถูกต้อง ที่ถูกจำเลยมีความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7มิได้แก้ไข การปรับบทลงโทษแม้คู่ความจะมิได้ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,288 ประกอบด้วยมาตรา 90, 392 และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง โดยทุกกระทงความผิดประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ด้วย รวมจำคุก 3 ปี 5 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาจิตใจที่โรงพยาบาลนิติจิตเวชโดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งภายในเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share