คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยการไต่สวนและไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ ศาลจึงไม่จำต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทนายความและตั้งทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมไม่ได้ออกระเบียบให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทนายความ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลา 14.45 นาฬิกา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานตำรวจประจำศาลชั้นต้นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นำขนม 3 กล่อง มาให้นายวีระพันธ์หรือคิวซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมผู้ต้องขังของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจได้ตรวจขนมดังกล่าวพบเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 597 เม็ด ซิมการ์ดโทรศัพท์ 3 อัน ซุกซ่อนอยู่ภายในขนมดังกล่าว และจับกุมผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนละเมิดอำนาจศาล โดยเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสอบถามเรื่องทนายความ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 แถลงว่าต้องการทนายความขอให้ศาลตั้งทนายความให้ ศาลชั้นต้นจึงมีหนังสือขอแรงทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 โดยนางสาวชุติกาญจน์รับเป็นทนายความให้ ระหว่างไต่สวนได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุมีชายคนหนึ่งชื่อเคถือถุงใส่ขนมมาซื้อบะหมี่สำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวจากร้านผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนำบะหมี่สำเร็จรูปกับขนมขบเคี้ยวที่ซื้อมาทั้งหมดใส่รวมไปในถุงขนมที่ถือมาดังกล่าว นำมาวางไว้ที่โต๊ะอาหารภายในร้านผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ชายดังกล่าวบอกผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างร้านขายกาแฟอยู่ติดกันว่าให้นำถุงใส่ขนมซึ่งมีบะหมี่สำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวทั้งหมดส่งให้ผู้ต้องขังด้วย โดยชายดังกล่าวเอาปากกาเมจิกที่ร้านผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มาเขียนที่ข้างถุงใส่ขนมว่าวีรพันธ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จึงบอกให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ทราบ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 สั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างนำถุงใส่ขนมและบะหมี่สำเร็จรูปกับขนมขบเคี้ยวทั้งหมดไปส่งให้ผู้ต้องหาที่ห้องควบคุมผู้ต้องขังของศาลชั้นต้นและถูกจับกุมตัว เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ซุกซ่อนอยู่ภายในขนมดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงเรียกผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 มาไต่สวนและสอบถามเรื่องทนายความ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 แถลงขอให้ศาลตั้งทนายความให้ ศาลชั้นต้นจึงมีหนังสือขอแรงทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 โดยนางสาวชุติกาญจน์รับเป็นทนายความให้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (ที่ถูก มาตรา 31 (1) ประกอบด้วยมาตรา 33) ปรับคนละ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้ว ทนายความผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามยื่นคำร้องขอรับเงินรางวัลทนายความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล ไม่เข้าเหตุตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ศาลไม่อาจสั่งจ่ายให้ได้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่จ่ายเงินรางวัลทนายความให้ผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาคดีอาญาทั่วไปต้องมีการพิจารณาและสืบพยานในศาลโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่กฎหมายจะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนี้ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณา ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” จึงเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องสอบถามจำเลยในเรื่องการมีทนายความเสียก่อนในกรณีที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกทุกกรณี อันเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในการดำเนินคดี การต่อสู้คดี และการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 ถึงมาตรา 33 เป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ ดังนี้ บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยการไต่สวนและไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ ศาลจึงไม่จำต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทนายความและตั้งทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้คดีนี้ศาลชั้นต้นจะแต่งตั้งผู้ร้องให้เป็นทนายความของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามและผู้ร้องได้ทำหน้าที่ทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามแล้วจนศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ก็ไม่มีผลกระทบต่อการไต่สวนคดีของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมไม่ได้ออกระเบียบให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทนายความ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share