คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18884/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามสำเนาสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงเอกสารหมาย ล. 11 ระบุข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์เพลงตกลงโอนขายและ ศ. ตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงรวมเพลงพิพาทในคดีนี้ด้วย โดยการโอนนี้เป็นการโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์ ศ. ผู้ซื้อตกลงจ่ายเงินให้แก่โจทก์ 190,000 บาท ในวันที่ 3 ธันวาคม 2527 อันเป็นวันทำสัญญา แต่ปรากฏในหน้า 2 ของสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 ว่า ศ. ได้จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์อีก 30,000 บาท หลังวันทำสัญญาแล้วนานถึง 6 ปี 15 วัน แสดงให้เห็นว่าค่าตอบแทนตามสัญญามิได้มีการจ่ายให้แก่กันเป็นเงิน 190,000 บาท เพียงครั้งเดียวตามที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 ข้อ 3 แม้สัญญาในข้อ 1 จะระบุว่าเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์และเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์ ก็ไม่มีเหตุผลพอเชื่อว่าเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์เพราะหากเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์จริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ ศ. ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์ภายหลังวันทำสัญญาอีก การที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้โจทก์อีกภายหลังกลับมีเหตุให้เชื่อว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เท่านั้น มิใช่สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมด เมื่อสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 เป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อ แต่เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับ ศ. เป็นการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ ลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวจึงยังคงเป็นของโจทก์ มิได้ตกเป็นของ ศ. ดังนั้น ศ. จึงมีสิทธิเฉพาะตัวในฐานะเป็นผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าว และมีขอบเขตในสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเท่านั้น ศ. จึงไม่มีสิทธินำเพลงดังกล่าวไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในลิขสิทธิ์อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,071,750 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในเงินจำนวน 2,763,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในเงินจำนวน 1,308,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวน 5 เพลง คือ 1. เทพธิดาผ้าซิ่น 2. ล่องเรือหารัก 3. วานนี้รักวันนี้ลืม 4. ดอกไม้กับก้อนอิฐ และ 5. เรารอเขาลืม ปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงดอกไม้กับก้อนอิฐ เพลงเทพธิดาผ้าซิ่น และเพลงวานนี้รักวันนี้ลืม ตามคำฟ้องข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 และในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเรารอเขาลืม และเพลงล่องเรือหารัก ตามคำฟ้องข้อ 2 และข้อ 3 ขาดอายุความตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63 แล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เพลงต่าง ๆ ที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ คงเหลือข้อที่จะต้องวินิจฉัยเพียงว่า เพลงเรารอเขาลืมตามที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องข้อ 5 โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าว เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นว่า ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งห้าเพลงของโจทก์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 วันที่ 29 สิงหาคม 2543 และวันที่ 21 มิถุนายน 2548 นั้น โจทก์ฟ้องภายในกำหนดอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 63 กรณีจึงต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า โจทก์ได้ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดรวมทั้งเพลงทั้งห้าตามคำฟ้องอย่างเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่นายศักดิ์ชัยแล้วและนายศักดิ์ชัยได้นำลิขสิทธิ์ในเพลงจำนวน 5 เพลง ดังกล่าวมาร่วมทำธุรกิจกับจำเลยที่ 1 โดยให้ถือครองเป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ร่วมกันหรือไม่ ในปัญหานี้ปรากฏตามสำเนาสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 3 ธันวาคม 2527 เอกสารหมาย ล. 11 ในคดีหมายเลขดำที่ ทป.92/2549 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งระบุข้อความว่า โจทก์ผู้ประพันธ์เพลงตกลงโอนขายและนายศักดิ์ชัยผู้ซื้อตกลงซื้อลิขสิทธิ์เพลงตามรายชื่อเพลงทั้งหมดจำนวน 39 เพลง ที่ให้ไว้ทั้งเนื้อร้องและทำนองของโจทก์ซึ่งมีเพลงวานนี้รักพรุ่งนี้ลืม (ไม่ใช่เพลงวานนี้รักวันนี้ลืมในคดีนี้) เพลงดอกไม้กับก้อนอิฐ เพลงเรารอเขาลืม และเพลงเทพธิดาผ้าซิ่น ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย โดยการโอนนี้เป็นการโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดและเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์ นายศักดิ์ชัยผู้ซื้อตกลงจ่ายเงินให้แก่โจทก์จำนวน 190,000 บาท โดยจ่ายให้ในวันที่ 3 ธันวาคม 2527 อันเป็นวันทำสัญญา จากข้อความในสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้นำเพลงวานนี้รักวันนี้ลืมของโจทก์มาโอนขายให้แก่นายศักดิ์ชัยด้วย ลิขสิทธิ์ในเพลงวานนี้รักวันนี้ลืมจึงยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนเพลงดอกไม้กับก้อนอิฐ เพลงเรารอเขาลืม และเพลงเทพธิดาผ้าซิ่น นั้น มีปัญหาว่าโจทก์ได้โอนขายให้แก่นายศักดิ์ชัยทั้งหมดเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์หรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏในหน้า 2 ของสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 ในคดีหมายเลขดำที่ ทป.92/2549 ของศาลดังกล่าว ระบุข้อความว่า “ได้รับเช็คเงินสดธนาคารกสิกรไทย สาขางามวงศ์วาน หมายเลขเช็ค 10934058 เป็นจำนวนเงินอีก 30,000 บาท เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533” และมีลายมือชื่อของโจทก์ลงไว้ใต้ข้อความดังกล่าว ทำให้เห็นว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาดังกล่าวนายศักดิ์ชัยมิได้จ่ายให้โจทก์จำนวน 190,000 บาท ในวันที่ 3 ธันวาคม 2527 อันเป็นวันทำสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 เท่านั้น แต่ยังมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามสัญญาหลังจากวันทำสัญญาด้วย ดังปรากฏในหน้า 2 ของสัญญาดังกล่าวว่า นายศักดิ์ชัยได้จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์อีกจำนวน 30,000 บาท หลังจากทำสัญญานั้นแล้วนานถึง 6 ปี 15 วัน แสดงให้เห็นว่าค่าตอบแทนตามสัญญานี้มิได้มีการจ่ายให้แก่กันเป็นเงินจำนวน 190,000 บาท เพียงครั้งเดียวดังที่ระบุไว้ในสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 ข้อ 3 แม้สัญญานี้ในข้อ 1 จะระบุว่าเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์และเสร็จเด็ดขาดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์ ก็ไม่มีเหตุผลพอเชื่อว่าเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์เพราะหากเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดตลอดอายุแห่งลิขสิทธิ์จริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่นายศักดิ์ชัยต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่โจทก์หลังวันทำสัญญาอีก การที่นายศักดิ์ชัยต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้โจทก์อีกภายหลังวันทำสัญญากลับมีเหตุผลให้เชื่อว่าสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เท่านั้น มิใช่สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ทั้งหมดแต่อย่างใด เมื่อสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 เป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อแต่เจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับนายศักดิ์ชัยเป็นการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามดังกล่าวจึงยังคงเป็นของโจทก์มิได้ตกเป็นของนายศักดิ์ชัย เพราะโจทก์มิได้โอนลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามนั้นให้นายศักดิ์ชัยโจทก์เพียงแต่อนุญาตให้นายศักดิ์ชัยใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าว นายศักดิ์ชัยจึงมีสิทธิเฉพาะตัวในฐานะเป็นผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามนั้นและมีขอบเขตแห่งสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล. 11 เท่านั้น นายศักดิ์ชัยไม่มีสิทธินำเพลงทั้งสามนี้ไปอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในลิขสิทธิ์อันจะเป็นปฏิบัติผิดสัญญาเอกสารหมาย จ. 11 ได้ การที่นายศักดิ์ชัยไปทำสัญญาร่วมลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 1 มีนาคม 2539 กับจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่านายศักดิ์ชัยนำเพลงทั้งสามนั้นไปทำสัญญาร่วมทำธุรกิจกับจำเลยที่ 1 โดยให้ถือครองเป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ร่วมกัน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 มีลิขสิทธิ์หรือมีสิทธิใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามดังกล่าว เพราะนายศักดิ์ชัยซึ่งเป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ย่อมไม่มีลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามนั้นดังได้วินิจฉัยข้างต้น นายศักดิ์ชัยจึงไม่อาจให้จำเลยที่ 1 มีลิขสิทธิ์ร่วมกับนายศักดิ์ชัยในเพลงทั้งสามดังกล่าวได้ ทั้งไม่อาจอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามนั้นได้ด้วย เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามดังกล่าวเท่านั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะโอนลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามนั้นแก่ผู้อื่นหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งสามดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 13, 14 และ 15 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญาเอกสารหมาย ล. 11 หรือตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15, 16 และ 17 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 80,000 บาท จำนวน 60,000 บาท และ 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2540 วันที่ 29 สิงหาคม 2543 และวันที่ 21 มิถุนายน 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามลำดับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share