คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแจ้งความเท็จอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172,173 และ 174 นั้น ความเท็จที่แจ้งต้องเป็นข้อความที่เกี่ยวกับความผิดอาญา เมื่อจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนเพียงว่า จำเลยเป็นผู้แนะนำ ส. ให้รู้จักกับโจทก์และสามีซึ่งเป็นความเท็จ โดยไม่มีข้อความว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาการกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
ส่วนการเบิกความเท็จอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 นั้น ความเท็จที่เบิกความต้องเป็นข้อสำคัญในคดี คือเป็นข้อความในประเด็นหรือที่เกี่ยวแก่ประเด็นอันอาจจะทำให้คู่ความถึงแพ้ชนะกันในประเด็นนั้นในคดีที่โจทก์คดีนี้ถูกฟ้องว่าฉ้อโกง ข้อสำคัญแห่งคดีมีว่า โจทก์ได้ทำการหลอกลวงผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ แล้วมอบเงินให้โจทก์รับไปหรือไม่ดังนั้น ที่จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวว่าจำเลยเคยแนะนำโจทก์ให้รู้จักกับผู้เสียหายนั้น ถึงหากจะเป็นความเท็จ ก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๓, ๑๗๔ และ ๑๗๗
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องฐานแจ้งความเท็จว่า “จำเลยได้แจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้แนะนำนางสาลี่ให้รู้จักกับโจทก์และสามีซึ่งเป็นความเท็จ เพราะจำเลยไม่เคยแนะนำให้โจทก์รู้จักกับนางสาลี่และโจทก์ไม่เคยรู้จักกับนางสาลี่ด้วยเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ถูกฟ้องคดีอาญาต้องรับโทษทางอาญาถึงจำคุก ฯลฯ ” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้ความเพียงว่าจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเป็นผู้แนะนำนางสาลี่ให้รู้จักกับโจทก์และสามีซึ่งเป็นความเท็จ เพราะจำเลยไม่เคยแนะนำให้โจทก์รู้จักกับนางสาลี่และโจทก์ไม่เคยรู้จักกับนางสาลี่ด้วยเท่านั้น จำเลยหาได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าโจทก์กระทำความผิดอาญาอันจะเป็นความผิดอาญาอันจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยไม่ เพราะความเท็จที่แจ้งนั้นต้องเป็นข้อความที่เกี่ยวกับความผิดอาญา ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
ส่วนความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น โจทก์บรรยายฟ้องดังนี้คือ จำเลยในฐานะพยานโจทก์ได้เบิกความว่า “เคยแนะนำนายอัมพรกับจำเลย (หมายถึงโจทก์คดีนี้) ให้รู้จักกับนางสาลี่โดยข้าพเจ้าไปธุระกับนางสาลี่ก็เลยพาคนทั้งสองไปด้วย และแนะนำว่าจำเลยทำงานที่กองสลากและนายอัมพรเป็นเพื่อนกัน” ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะจำเลยไม่เคยแนะนำให้นางสาลี่รู้จักกับโจทก์ ทั้งโจทก์ไม่เคยรู้จักกับนางสาลี่ ดังความเท็จที่จำเลยเบิกความต่อศาลอันเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะสนับสนุนเหตุผลที่นางสาลี่เบิกความว่าได้มอบเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์ ดังที่นางสาลี่ว่าโจทก์อ้างว่านายสาธิตให้มาขอยืมเงินศาลไม่เชื่อคำเบิกความของจำเลย จึงพิพากษายกฟ้องในคดีนั้น ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๘๗๗/๒๕๒๗ ฯลฯ” พิเคราะห์คำฟ้องข้อนี้ประกอบกับคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๘๗๗/๒๕๒๗ แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์คดีนี้ฉ้อโกงนางสาลี่ผู้เสียหาย ข้อสำคัญแห่งคดีมีว่าโจทก์ได้ทำการหลอกลวงผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ แล้วมอบเงินจำนวนหนึ่งหมื่นบาทให้โจทก์รับไปหรือไม่ ส่วนคำเบิกความของจำเลยในฐานะพยานโจทก์ดังกล่าวว่า จำเลยเคยแนะนำโจทก์ให้รู้จักกับนางสาลี่ผู้เสียหาย นั้น ถึงหากจะเป็นความเท็จก็มิใช่ข้อสำคัญในคดี เพราะข้อความที่จำเลยเบิกความดังกล่าวก็มิใช่ข้อความในประเด็นหรือที่เกี่ยวแก่ประเด็นอันอาจจะทำให้คู่ความถึงแพ้ชนะกันในประเด็นนั้น ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
พิพากษายืน

Share