แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมของสหภาพแรงงานในสถานประกอบกิจการของนายจ้างนั้นหากไม่มีข้อกำหนดในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ก็ควรมีการควบคุมบ้างพอสมควรเกี่ยวกับเรื่องลักษณะการใช้ถ้อยคำและสถานที่เพราะสถานประกอบกิจการเป็นของนายจ้างซึ่งมีสิทธิขาดบริบูรณ์ในสถานที่นั้นการที่นายจ้างออกคำสั่งห้ามมิให้สหภาพแรงงานเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมภายในสถานที่ของตนโดยกำหนดให้สหภาพแรงงานส่งข้อความในเอกสารหรือแจ้งเรื่องลักษณะที่จะดำเนินงานให้นายจ้างพิจารณาอนุญาตก่อนจึงหาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมไม่และไม่เป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานตามความหมายของพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา121(4)(5) ตราบใดที่คำสั่งห้ามของนายจ้างดังกล่าวยังมีผลอยู่ตลอดเวลาถือว่าการฝ่าฝืนย่อมมีตลอดมาทุกวันโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้อยู่ตราบนั้นการนับเวลา60วันตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา124จึงจะเริ่มนับแต่วันที่มีคำสั่งเป็นวันเริ่มต้นเพียงวันเดียวหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 14 มีคำสั่งห้ามโจทก์และพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ 14 ชุมนุมและเผยแพร่เอกสารภายในบริเวณที่ทำการของจำเลยที่ 14 โดยกำหนดลงโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่งไว้ด้วย โจทก์ได้ร้องเรียนขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัย แต่จำเลยกลับยกคำร้องของโจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 14 และสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1ถึงที่ 13
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ให้การว่าโจทก์ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยที่ 14 ไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน คำสั่งจำเลที่ 1 ถึงที่ 13 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยที่ 14 ให้การว่า จำเลยที่ 14 ได้มีคำสั่งตามฐานะที่เป็นเจ้าของสถานที่ที่จะใช้สิทธิควบคุมดูแลการใช้สถานที่เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 14 คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 14
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าการยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 14 ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออีกนัยหนึ่งจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 ตามความในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 124 นั้น โจทก์ต้องยื่นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืน สำหรับคดีนี้คือนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 ที่จำเลยที่ 14 ออกคำสั่งที่ 86/2527 และคำสั่งดังกล่าวจะถือว่าเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเนื่องและมีผลบังคับตลอดไปทุกวันจนกว่าจะมีการเพิกถอนคำสั่งตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหาได้ไม่ พิเคราะห์แล้ว จากคำปรารถของจำเลยที่ 14 ในวรรคแรกแห่งคำสั่งที่ 86/2527ซึ่งมีความว่า “ด้วยปรากฏว่าได้มีพนักงานและหรือลูกจ้างของ อ.ส.ม.ท.ได้เผยแพร่เอกสารในลักษณะต่าง ๆ กันในบริเวณที่ทำการ อ.ส.ม.ท.โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เอกสารที่เผยแพร่บางฉบับยังมีข้อความเป็นเท็จหรือก่อให้เกิดความแตกแยกความสามัคคีความกระด้างกระเดื่องหรือเกิดความเข้าใจผิดในหมู่พนักงานตลอดจนเสียหายต่อภาพพจน์ขององค์การที่มีต่อสาธารณชนทำให้ อ.ส.ม.ท. เสียหาย นอกจากนั้นก็ยังปรากฏว่าได้มีการนัดชุมนุมในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการ อ.ส.ม.ท.ซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต” จากคำปรารภตามที่กล่าวข้างต้น ย่อมเห็นได้ว่าการเผยแพร่เอกสารหรือการนัดชุมนุมของพนักงานลูกจ้างของจำเลยที่ 14 นั้นได้เคยกระทำกันมาก่อนแล้วการกระทำนั้น ๆ ก่อความไม่พึงใจทุกรุ่นแก่จำเลยที่ 14 ผู้เป็นนายจ้างตลอดมา ติดจะตัดต้นเหตุเพื่อมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไปในที่สุดจำเลยที่ 14 จึงตัดสินใจออกคำสั่งห้ามการกระทำนั้น ๆเสียดังปรากฏตามความในวรรคสอง วรรคสาม และวรรคสี่ แห่งคำสั่งฉบับดังกล่าว กรณีดังกล่าวสอดส่องให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 14ได้ว่าประสงค์จะห้ามปรามพนักงานลูกจ้างมิให้กระทำการนั้น ๆ อีกต่อไปหากจะกระทำจะถือว่าเป็นความผิดทุกครั้งไป คำสั่งของจำเลยที่ 14จึงเป็นคำสั่งที่มีผลต่อเนื่องตลอดเวลา มิใช่ออกคำสั่งห้ามปรามการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นคราว ๆ แล้วก็เสร็จสิ้นกันไป คำสั่งดังกล่าวจะมีผลอยู่ตลอดเวลามิได้ยุติลง ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องการห้ามเผยแพร่เอกสารหรือการนัดชุมนุมนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 14 ยังห้ามอยู่การฝ่าฝืนย่อมมีอยู่ตลอดมาทุกวันโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยที่ 14 ผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้อยู่ตราบนั้นการนับเวลาหกสิบวันจะเริ่มนับแต่วันที่ 20 กันยายน 2527 เป็นวันเริ่มต้นเพียงวันเดียวเป็นยุติทีเดียวตามที่จำเลยอุทธรณ์หาได้ไม่กรณีเทียบเคียงได้กับเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(4) ในข้อที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งตราบใดที่ยังทิ้งร้างต่อเนื่องกันอยู่ย่อมเป็นการละทิ้งร้างอยู่ทุกวันตราบนั้น คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิฟ้องขอหย่าได้ แม้จะเกินหนึ่งปีแล้วดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 780/2502 และ 769/2523
จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า คำสั่งที่ 86/2527 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการขัดขวางการดำเนินการของโจทก์ หรือเป็นการเข้าแทรกแซงในการดำเนินการของโจทก์ จำเลยยกเหตุผลขึ้นประกอบอุทธรณ์ว่า คำสั่งที่ 86/2527 ห้ามการเผยแพร่เอกสารและห้ามการนัดชุมนุมเฉพาะภายในบริเวณที่ทำการของจำเลยที่ 14 เท่านั้น ซึ่งหาใช่เป็นที่ตั้งสำนักงานของโจทก์ไม่ จำเลยที่ 14 มีหน้าที่และความรับผิดชอบควบคุมดูแลอาคารสถานที่ของตนได้ ผู้ใดจะกระทำการใด ๆ โดยพลการไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 14 ก่อน ย่อมกระทำมิได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สหภาพแรงงานเป็นสถาบันสถาบันหนึ่งซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสหภาพการจ้างและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และระหว่างลูกจ้างด้วยกัน การเผยแพร่เอกสารและนัดชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวหากกระทำในที่ตั้งสำนักงานของตน หรือบริเวณที่ตนมีสิทธิโดยลำพังไม่ข้องแวะด้วยนายจ้างแล้ว ย่อมเป็นสิทธิขั้นมูลฐานและเป็นสิทธิเสรีที่สหภาพแรงงานย่อมกระทำได้ แต่การที่สหภาพแรงงานจะกระทำกิจกรรมสองประการนั้นในสถานประกอบกิจการหรือบริเวณสถานประกอบกิจการของนายจ้างนั้น ว่าโดยปกติควรมีข้อกำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า ควรเผยแพร่และควรนัดชุมนุมเรื่องใด ลักษณะใดณ ที่ใดในบริเวณของนายจ้าง จึงจะเป็นที่ที่เหมาะสม แต่สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไว้ประการใดเพราะฉะนั้นการเผยแพร่เอกสารและการนัดชุมนุมจึงควรต้องมีการควบคุมบ้างพอสมควรเกี่ยวกับเรื่อง ลักษณะ การใช้ถ้อยคำ และสถานที่ เพราะสถานประกอบกิจการหรือบริเวณเป็นของจำเลยที่ 14 ผู้มีอำนาจสิทธิขาดบริบูรณ์ในสถานที่นั้นการส่งข้อความในเอกสารหรือแจ้งเรื่องลักษณะให้จำเลยที่ 14 พิจารณาอนุญาตก่อนจึงเป็นวิธีที่ดี เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 14 ให้ดียิ่งขึ้นตัดความร้าวฉานที่อาจเกิดขึ้นได้ ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งที่ 86/2527นั้น จำเลยที่ 14 ผู้เป็นเจ้าของอาคารสถานที่ประกอบกิจกรรมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการขัดขวางการกระทำการของโจทก์ ไม่เป็นการแทรกเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการของโจทก์ เพราะถ้าโจทก์กระทำในที่อื่นนอกสถานประกอบกิจการและบริเวณของจำเลยที่ 14โจทก์ย่อมกระทำได้ ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 14 จึงไม่เป็นการขัดขวางการดำเนินการ ไม่เป็นการแทรกแซงในการดำเนินการของโจทก์ตามความหมายในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121(4)(5) การออกคำสั่งของจำเลยที่ 14 ที่มีผลใช้บังคับเฉพาะอาคารสถานที่ของตน หาเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามบทมาตราดังกล่าวข้างต้นไม่
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.