คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4267/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยเบิกเงินยืมทดรองจ่ายเพื่อดำเนินคดีในฐานะทนายความให้แก่โจทก์ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จต้องนำใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญการจ่ายเงินมาหักล้างบัญชีเงินทดรองจ่าย หากไม่ได้ดำเนินคดีหรือมีเงินเหลือต้องส่งคืนแก่โจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินที่จำเลยยืมไปคืนตามความผูกพันที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีนายจ้างเรียกเอาคืนเงินที่ได้จ่ายทดรองที่นายจ้างจ่ายล่วงหน้าไปคืนตามมาตรา 193/34 (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,453,722.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ส่งสำนวนคดีนี้ไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง
ระหว่างพิจารณา จำเลยแถลงยอมรับว่าศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 จำเลยคืนแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0133292 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2544 จำนวนเงิน 60,412.50 บาท ให้แก่ทนายโจทก์ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 สิงหาคม 2547
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,393,310.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 มีนาคม 2547) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่กรรม นางพัชรี มารดาผู้เป็นทายาทของจำเลยแถลงขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต และธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 เป็นประการแรกว่า เดิมผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้ไกล่เกลี่ยและตกลงกับจำเลยว่าหากจำเลยคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาของศาลในคดีที่จำเลยไปปฏิบัติหน้าที่และเบิกเงินยืมทดรองจ่ายมาแสดง ก็จะตัดเงินยืมทดรองจ่ายในรายการดังกล่าวออกให้ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนใหม่ให้จำเลยนำใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญจ่ายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของจำเลยมาแสดง ทำให้จำเลยไม่สามารถหาเอกสารมาแสดงได้ทันเวลา เพราะเอกสารดังกล่าวอยู่ในสำนวนที่ส่งคืนโจทก์แล้ว การที่ศาลแรงงานกลางไม่อนุญาตให้เรียกสำนวนคดีทั้งหมดมาเป็นพยาน จำเลยย่อมไม่อาจนำเอกสารมาแสดงต่อศาลได้ ศาลแรงงานกลางจึงไม่อาจถือเอาเพียงพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำมาแสดงเพื่อชั่งน้ำหนักพยานแต่เพียงเท่านั้น อีกทั้งโจทก์ยังได้แถลงยอมรับว่าจำเลยได้ยื่นใบแต่งทนายความและขอรับชำระหนี้ในบางคดีไว้แล้ว และอุทธรณ์ข้อ 2.2 เป็นประการต่อมาว่า โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเงินยืมทดรองจ่ายจำนวน 35 ราย ดังกล่าวโจทก์สามารถส่งใช้แทนจำเลยได้เอง และโจทก์ก็มิได้พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้ไปปฏิบัติงานหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างไร ย่อมแสดงว่าคดีทั้งหมดที่โจทก์กล่าวอ้างมานั้นจำเลยได้ดำเนินการให้แก่โจทก์ไปแล้ว เพียงแต่ยังมิได้รายงานคดีและส่งใช้เงินยืมทดรองจ่ายเท่านั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีคำสั่งที่54/2536 กำหนดเวลาส่งคืนเงินยืมไว้ ซึ่งตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยจะต้องส่งคืนเงินยืมและใบสำคัญหักล้างบัญชีเงินยืมทดรองจ่ายทันทีที่เสร็จงานนั้นหรือภายในกำหนดการส่งคืน แต่จำเลยไม่มีใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญการจ่ายเงินมาแสดง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการใดให้เป็นไปตามคำสั่งที่ 54/2536 ดังกล่าว ดังนั้นการที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 และข้อ 2.2 เพื่อให้เห็นว่าจำเลยได้ดำเนินคดีแก่ลูกค้าโจทก์ครบถ้วนและมีใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญการจ่ายเงินอยู่ในสำนวนที่ส่งให้โจทก์แล้วเช่นนี้ จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์จำเลยประการสุดท้าย ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า เงินจำนวนตามคำฟ้องทั้งหมดเป็นเงินที่โจทก์ออกทดรองจ่ายไปล่วงหน้าเพื่อให้จำเลยไปทำงานให้โจทก์ จึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยได้เบิกเงินยืมทดรองจ่ายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นระยะเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) แล้วนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกเงินยืมทดรองจ่ายเพื่อดำเนินคดีในฐานะทนายความให้แก่โจทก์เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จต้องนำใบเสร็จรับเงินหรือใบสำคัญการจ่ายเงินมาหักล้างบัญชีเงินทดรองจ่าย หากไม่ได้ดำเนินคดีหรือมีเงินเหลือจะต้องส่งคืนแก่โจทก์ ซึ่งกรณีนี้โจทก์ฟ้องเรียกหนี้เงินที่จำเลยยืมไปคืนตามความผูกพันซึ่งเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 มิใช่กรณีนายจ้างเรียกเอาคืนเงินที่ได้จ่ายทดรองที่นายจ้างจ่ายล่วงหน้าไปคืนตามมาตรา 193/34 (9) เมื่อนับจากวันที่จำเลยรับเงินทั้งหมดไปจากโจทก์จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share