คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12797/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364 นั้น แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 364 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 364 ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 364 ไม่ได้ เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้วและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ตามบันทึกการตรวจยึดและบัญชีของกลางคดีอาญาระบุว่า ป้ายผ้าผืนแรกมีข้อความว่า “ที่ดินคนไทย ทำไมให้ต่างชาติทำกิน” ผืนที่สองมีข้อความว่า “แผ่นดินไทยแต่คนไทยไม่มีที่ทำกิน ต้องยกเลิกสัญญา” ส่วนไม้กระดานอัดแผ่นแรกเขียนข้อความเกี่ยวกับระเบียบการเข้ามาอยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุและแผ่นที่สองเขียนข้อความเกี่ยวกับค่าสมัครสมาชิก แม้ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดซึ่งมีข้อความดังกล่าวแขวนหรือติดไว้ในที่เกิดเหตุ แต่ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดไม่ใช่ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรง จึงริบทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องคืนแก่เจ้าของ แม้โจทก์มิได้มีคำขอมาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 362, 364, 365 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เสร็จแล้ว จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัทประจักษ์วิวัฒน์ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 364 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ด้วยนั้น เห็นว่า แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 364 ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้วและไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบป้ายผ้า 2 ผืน และแผ่นไม้กระดานอัด 2 แผ่น ของกลางนั้น เห็นว่า ตามบันทึกการตรวจยึดและบัญชีของกลางคดีอาญา ระบุว่า ป้ายผ้าผืนแรกมีข้อความว่า “ที่ดินคนไทย ทำไมให้ต่างชาติทำกิน” ผืนที่สองมีข้อความว่า “แผ่นดินไทยแต่คนไทยไม่มีที่ทำกิน ต้องยกเลิกสัญญา” ส่วนไม้กระดานอัดแผ่นแรกเขียนข้อความเกี่ยวกับระเบียบการเข้ามาอยู่ในที่ดินที่เกิดเหตุและแผ่นที่สองเขียนข้อความเกี่ยวกับค่าสมัครสมาชิก แม้ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดซึ่งมีข้อความดังกล่าวแขวนหรือติดไว้ในที่เกิดเหตุ แต่ป้ายผ้าและไม้กระดานอัดไม่ใช่ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในคดีนี้โดยตรง จึงริบทรัพย์สินไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สิน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อไม่ริบทรัพย์สินดังกล่าวจึงต้องคืนแก่เจ้าของ แม้โจทก์มิได้มีคำขอมาก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนของกลางแก่เจ้าของได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง และคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควร เป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ริบของกลาง แต่ให้คืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share