คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4823/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีเจ้าของรถแท็กซี่นำรถมาร่วมกิจการกับโจทก์โดยใช้ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถและมอบให้โจทก์นำรถแท็กซี่ออกให้เช่าซื้อ แต่สัญญาเช่าซื้อทำกันระหว่างเจ้าของรถแท็กซี่กับผู้เช่าซื้อ กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายวัน ในการนี้ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าเช่าซื้อแทน จำเลยที่ 1 เก็บค่าเช่าซื้อไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ เบียดบังเอาเงินค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานยักยอก และแม้เงินดังกล่าวจะมิใช่ของโจทก์ แต่โจทก์ต้องส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าของรถหลังจากหักค่าใช้จ่ายของโจทก์แล้ว โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, มาตรา 83 และมาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีผู้นำรถมาเข้าร่วมกิจการดังกล่าวกับโจทก์รวมทั้งรถแท็กซี่ทั้ง 12 คัน ในคดีนี้ โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ติดตามจัดเก็บค่าเช่าซื้อแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ช่วยเก็บค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบค่าเช่าซื้อส่วนหนึ่งให้แก่โจทก์ โจทก์จึงร้องทุกข์และฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องและโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีนางสาวปิยาภาเป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ เดิมโจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่ารถแท็กซี่ ต่อมาปี 2539 เปลี่ยนธุรกิจเป็นให้เช่าซื้อรถแท็กซี่ มีเจ้าของรถแท็กซี่นำรถมาร่วมกิจการดังกล่าวกับโจทก์เฉพาะคดีนี้จำนวน 12 คัน โดยมอบให้โจทก์นำรถแท็กซี่ออกให้เช่าซื้อ ในการนี้เจ้าของรถแท็กซี่ให้โจทก์ใช้ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่สัญญาเช่าซื้อทำกันระหว่างเจ้าของรถแท็กซี่กับผู้เช่าซื้อ กำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายวัน โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บค่าเช่าซื้อแทน จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ไปเก็บค่าเช่าซื้อโดยจะบันทึกการรับเงินในสมุดของผู้เช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ยังต้องลงในสมุดบัญชีของโจทก์พร้อมกับนำค่าเช่าซื้อส่งให้โจทก์ทุกวัน พยานเป็นผู้รวบรวมเงินไว้เมื่อถึงสิ้นเดือนจะหักค่าใช้จ่ายแล้วเฉลี่ยเงินส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าของรถทุกคัน ในข้อนี้โจทก์มีนายวรเชษฐ์และนายอุเทนเจ้าของและผู้เช่าซื้อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท-1376 กรุงเทพมหานคร นางทิพย์สุดาและนายอุ่นเจ้าของและผู้เช่าซื้อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท-9049 กรุงเทพมหานคร กับนายสุพลผู้เช่าซื้อรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 7ท-1185 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายจงเป็นเจ้าของเป็นพยานเบิกความยืนยันถึงทางปฏิบัติระหว่างโจทก์ เจ้าของรถแท็กซี่และจำเลยทั้งสอง ตามคำเบิกความของนางสาวปิยาภา โดยค่าเช่าซื้อส่วนที่นายอุเทนชำระให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 12,600 บาท และส่วนที่นายอุ่นชำระให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 10,200 บาท กับส่วนที่นายสุพลชำระให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 22,800 บาทนั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ส่งให้กับโจทก์ ประกอบกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 รับจากผู้เช่าซื้อจำนวน 17 ครั้ง ตามสมุดบันทึกของผู้เช่าซื้อทั้ง 12 เป็นเงินจำนวนถึง 112,200 บาท ซึ่งเป็นค่าเช่าซื้อที่รับจากผู้เช่าซื้อระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2541 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งค่าเช่าซื้อดังกล่าวที่รับไว้แทนโจทก์ให้แก่โจทก์เป็นรายวัน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความรับว่า เมื่อประมาณปี 2541 โจทก์เร่งรัดให้จำเลยที่ 1 เก็บค่าเช่าซื้อ บ่งชี้ให้เห็นว่าโจทก์โดยนางสาวปิยาภาพบความผิดปกติในเรื่องดังกล่าว อันนำไปสู่การตรวจสอบการชำระค่าเช่าซื้อตามสมุดบันทึกของผู้เช่าซื้อ จนพบว่าจำเลยที่ 1 รับค่าเช่าซื้อไว้แล้วไม่ส่งให้โจทก์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ส่อเจตนาว่าจะไม่ส่งค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ดังกล่าวให้โจทก์ อันเป็นการเบียดบังเอาเงินค่าเช่าซื้อที่รับไว้แทนโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 นำค่าเช่าซื้อที่รับไว้ไปแจ้งความและได้รับคำแนะนำจากเจ้าพนักงานตำรวจว่าให้นำไปฝากธนาคารก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิด และแม้เงินดังกล่าวจะมิใช่เงินของโจทก์ แต่โจทก์ก็ต้องส่งเงินดังกล่าวให้เจ้าของรถหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความผิดจนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีส่วนได้เสียจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งระงับไม่ให้จำเลยที่ 2 นำค่าเช่าซื้อที่เก็บมาได้ส่งให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ย่อมต้องกระทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ในส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 17 กระทง จำคุก 17 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share