แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่กั้นทางพิพาทและยื่นคำร้องฉุกเฉินขอคุ้มครองประโยชน์ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกชั่วคราว ผลคดีศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องเช่นนี้เมื่อโจทก์ฎีกาโดยยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยปิดกั้นทางพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย คำร้องจึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 254 วรรคสุดท้ายศาลฎีกาย่อมสั่งให้ส่งคืนศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รั้วกำแพงที่จำเลยสร้างกั้นทางพิพาทไว้ กับให้จำเลยเปิดทางเดินให้ใช้ทางได้อย่างสภาพเดิม และห้ามมิให้จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดที่ดินเลขที่ 1622 อีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงที่จำเลยก่อขึ้นบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1622 เลขที่ดิน 14 ตำบลหลักสองอำเภอหนองแขม (ภาษีเจริญ) กรุงเทพมหานครออกจากทางพิพาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา พร้อมกับยื่นคำร้องว่า โจทก์มีทางชนะคดีขอได้อนุญาตให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งเจ็ดไว้ในระหว่างพิจารณาโดยมีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยกระทำการปิดกั้นทางพิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ปรากฏว่า ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์พร้อมคำร้องขอกรณีฉุกเฉิน ให้จำเลยรื้อถอนรั้วกำแพงและเปิดทางในที่ดินของจำเลย กับห้ามกระทำการใด ๆ บนที่ดินจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อกำแพงที่ปิดกั้นทางเดินเข้าถนนหมู่บ้าน 3.56 เมตรออกชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายจำนวน 10,000 บาท ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “คำร้องขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดนี้ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 วรรคสุดท้าย จึงให้ส่งคืนศาลชั้นต้นเพื่อมีคำสั่งต่อไป”