คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12582/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยปลอมบัตรเครดิตวีซ่าและนำบัตรเครดิตที่ปลอมนั้นไปใช้หลอกลวงร้านค้า ห. ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นผู้มีชื่อถือบัตรเครดิตดังกล่าว และได้ไปซึ่งกระเป๋าของกลาง 2 ใบ โดยมิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่และมิได้ขอให้ศาลสั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวมาในฟ้อง ศาลย่อมริบไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ส่วนกระเป๋าของกลาง เจ้าของไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจึงริบไม่ได้เช่นกันตาม ป.อ. มาตรา 33 วรรคท้าย
แม้พนักงานอัยการโจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยคืนเงินแก่ธนาคาร ท. ผู้จ่ายเงินตามใบบันทึกรายการขายที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อความเสียหายที่ธนาคาร ท. ได้รับนั้น เป็นเพียงความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญาจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ธนาคาร ท. จ่ายให้ร้าน ห. ให้แก่ธนาคาร ท. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คือมาตรา 265 และ 268 มาบังคับแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมบัตรเครดิตวีซ่าอันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับจำนวน 2 ฉบับ ระบุชื่อ SOMKIAT (สมเกียรติ) ผู้ถือบัตร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกร่วมกันใช้บัตรเครดิตวีซ่าที่ทำปลอมขึ้นหลอกลวงพนักงานขายของร้านหลุยส์วิคตองสาขาเพนนิซูล่า ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าจำเลยชื่อสมเกียรติผู้มีชื่อเป็นผู้ถือบัตรเครดิตเพื่อใช้บัตรเครดิตปลอมชำระค่าสินค้า กระเป๋าสะพายผู้หญิง 1 ใบ ราคา 28,100 บาท และกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ ราคา 34,200 บาท รวมเป็นเงิน 62,300 บาท และจำเลยลงลายมือชื่อปลอมในใบบันทึกการขายเลขที่ 025903ในช่องลายมือชื่อผู้ถือบัตรเพื่อแสดงว่านายสมเกียรติผู้มีชื่อเป็นผู้ถือบัตรเครดิตซื้อสินค้าจำนวน 62,300 บาท และเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกใช้บัตรเครดิตวีซ่าที่ทำปลอมขึ้นหลอกลวงนายปริญญาพนักงานขายของร้านแมคโคร ออฟฟิสเซ็นเตอร์ สาขายูไนเต็ดเซ็นเตอร์ด้วยการแสดงข้อความเป็นเท็จว่า จำเลยชื่อสมเกียรติผู้มีชื่อเป็นผู้ถือบัตรเครดิต เพื่อใช้บัตรเครดิตปลอมชำระค่าสินค้าประเภทเครื่องโทรสาร (แฟกซ์) จำนวน 4 เครื่อง ราคารวม 57,960 บาท จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่เอาสินค้าทั้ง 4 รายการไปไม่ได้ เนื่องจากนายปริญญาพบพิรุธทำการตรวจสอบและขออนุมัติวงเงินจากธนาคาร จำเลยกับพวกจึงขอบัตรเครดิตคืนแล้วหลบหนีไปขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 264, 265, 268, 341, 342, 357 ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จำเลยให้การรับสารภาพฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย) ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง ปฏิเสธฐานปลอมเอกสารสิทธิ (บัตรเครดิต) และรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 264 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับมาตรา 264), 268 วรรคแรก วรรคสอง (ที่ถูกไม่ต้องปรับวรรคสอง) ประกอบมาตรา 265, มาตรา 341 และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย) และฉ้อโกง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย)ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) และพยายามฉ้อโกง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบ มาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบบัตรเครดิตปลอม 2 ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ใบบันทึกการขาย 1 ใบ กระเป๋าหนัง 2 ใบ ของกลางและให้จำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า แม้การที่จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าปลอมของกลางไปใช้ กับปลอมใบบันทึกการขายและใช้ใบบันทึกการขายปลอมเพื่อฉ้อโกงทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงแต่จำเลยไม่ได้เป็นผู้ปลอมบัตรเครดิตวีซ่าของกลางที่จำเลยนำไปใช้ และการปลอมใบบันทึกการขายและใช้ใบบันทึกการขายปลอมก็เป็นผลสืบเนื่องจากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าปลอมของกลาง ทั้งจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าปลอมของกลางไปใช้เพื่อชำระราคาสินค้าเพียง 2 ครั้ง โดยทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำความผิดคงมีเพียงกระเป๋าสะพายผู้หญิงและกระเป๋าเดินทางซึ่งมีราคาไม่สูงมากนักเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปี จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่องและกระเป๋าของกลางนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางและมิได้ขอให้ศาลสั่งริบของกลางดังกล่าวมาในฟ้อง ศาลย่อมริบไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ส่วนกระเป๋าของกลางเจ้าของไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจึงริบไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 วรรคท้าย และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นั้น เห็นว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้จ่ายเงินให้แก่ร้านหลุยส์วิคตอง เป็นเพียงได้รับความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญาจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาทที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จ่ายให้แก่ร้านหลุยส์วิคตองให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2547 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลย ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่องและกระเป๋าของกลาง กับยกคำขอที่ให้คืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share