คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1976/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จังหวัดยโสธรทำสัญญาว่าจ้างกับจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายอำเภอลงนามแทนจังหวัดยโสธร ต่อมาโจทก์ได้รับโอนสิทธิในการรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ไม่จ่ายเงินแก่โจทก์กลับไปจ่ายแก่จำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และการจ่ายเงินของจำเลยที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะนายอำเภอและในฐานะผู้ร้บมอบอำนาจจากจังหวัดยโสธร มิใช่ทำในฐานะส่วนตัว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 แต่ต้องฟ้องต่อหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอทรายมูลและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากจังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ซ่อมแซมถนนวางท่อและเทคอนกรีตรวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 344,724 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1 แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ทราบ แต่จำเลยที่ 3 กลับจ่ายเงินค่าก่อสร้างจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2544 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการจงใจทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เพราะทำให้โจทก์ไม่ได้รับเงินค่าก่อสร้างจำนวนดังกล่าว โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 344,724 บาท นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2543 จนถึงวันฟ้อง เป็นดอกเบี้ย 31,168 บาท รวมเป็นเงิน 375,892 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 375,892 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ระหว่างทำการซ่อมถนนตามสัญญามีนางจำเนียรศักดิ์สกุลไท ตัวแทนของจำเลยที่ 1 นำเอกสารมาให้จำเลยที่ 3 รับทราบว่าจำเลยที่ 1 มีสัญญาก่อสร้างกับจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยืมเงินหรือเบิกวัสดุก่อสร้างจากบุคคลอื่นมาดำเนินการก่อสร้าง จำเลยที่ 3 จึงลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวให้ ต่อมาการก่อสร้างแล้วเสร็จจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้นางจำเนียรมาขอรับเงินค่าจ้างตามสัญญา จำเลยที่ 3 จึงได้เบิกจ่ายเงินให้ตามระเบียนขั้นตอนของทางราชการเป็นเงิน 344,724 บาท โจทก์อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่มีการทักท้วงหรือโต้แย้งแจ้งให้ทราบว่ามีการโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องภายหลังจากจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 344,724 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการรับเงินค่าจ้างที่โจทก์ได้รับโอนจากจำเลยที่ 1 ในคดีนี้นั้น มาจากสัญญาว่าจ้างระหว่างจังหวัดยโสธรกับจำเลยที่ 1 โดยผู้ลงนามแทนจังหวัดยโสธรผู้ว่าจ้างคือจำเลยที่ 3 ตำแหน่งนายอำเภอทรายมูล การที่โจทก์ไม่สามารถรับเงินตามสิทธิที่ได้รับโอนมาได้นั้น เนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์กลับไปจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่การจ่ายเงินของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะนายอำเภอทรายมูลและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจังหวัดยโสธร มิใช่ทำในฐานะส่วนตังซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด แต่ให้ฟ้องต่อหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share