คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จะฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สอบถามจำเลยที่ 2 ว่าไว้วางใจได้หรือไม่ แล้วจำเลยที่ 2 จะหันไปถามสิบตำรวจโท ป. ว่ามาจากไหนเมื่อได้รับคำตอบจากสิบตำรวจโท ป. ว่า “ไอ้รุ่งร้านยางบ้านโคกตายอให้มาซื้อของ” จำเลยที่ 2 จึงตอบจำเลยที่ 1 ไปว่า “ไว้ใจได้ขายเขาไปเถอะ” ก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าอำนาจตัดสินใจในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะอยู่กับจำเลยที่ 2 การตัดสินใจซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและการตกลงราคายังขึ้นอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น นอกจากนี้ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องในการยึดถือหรือครอบครองดูแลหรือร่วมเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนของกลาง ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนด้วย เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้มามอบให้สิบตำรวจโท ส. และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากสิบตำรวจโท ส. เอง การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องโจทก์ แต่การที่จำเลยที่ 2 ตอบจำเลยที่ 1 ไปว่า “ไว้ใจได้ขายเขาไปเถอะ” ย่อมเป็นการพูดเพื่อช่วยในการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 ในอันที่จะขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สิบตำรวจโท ส. ที่ปลอมตัวเป็นสายลับเข้าไปขอซื้อให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการรับราชการทหารกองประจำการ สังกัดกองพันบริการ ศูนย์การบินทหารบก จังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 จำนวน 12 เม็ด น้ำหนัก 1.14 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 1 เม็ด ในราคา 100 บาท ให้แก่ผู้ล่อซื้อโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลบึงสามพัน อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองและยึดได้ธนบัตรล่อซื้อ 100 บาท กับเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลางเมทแอมเฟตามีนของกลางหมดไปในการตรวจพิสูจน์ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 12 เดือน ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 386/2541 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยที่ 2 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงโทษไว้ 2 ปี ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1667/2541 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ของศาลชั้นต้น ภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ จำเลยที่ 2 กลับมากระทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 10 คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย และบวกโทษของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1667/2541 ดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้องโจทก์จริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 2
เป็นข้าราชการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 15 ปี รวม 2 กระทง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 30 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่งเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1667/2541 ดังกล่าวเข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 30 ปี 6 เดือน คืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “นอกจากพยานโจทก์ทั้งสามจะเบิกความได้ข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงและสอดคล้องต้องกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสามยังสอดคล้องตรงกันกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุอันถือได้ว่าเป็นระยะเวลากระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่น่าจะทันมีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงไปเป็นอย่างอื่นได้ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวโจทก์ก็มีร้อยตำรวจเอกสุนทรพนักงานสอบสวนมาเบิกความรับรองว่าจำเลยที่ 1 ให้การโดยสมัครใจและยังได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและให้ถ่ายภาพไว้ด้วย เมื่อรับฟังมาประกอบคำของพยานโจทก์ทั้งสามแล้วจึงทำให้คำพยานโจทก์ทั้งสามมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเป็นความจริงที่จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะพบชาย 2 คน ยืนคุยอยู่กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตะโกนถามจำเลยที่ 2 ว่า สองคนนี้เป็นใคร จำเลยที่ 2 ตอบไม่รู้จักนั้น ไม่มีน้ำหนักรับฟัง อย่างไรก็ดี แม้จะฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สอบถามจำเลยที่ 2 ว่าไว้วางใจได้ หรือไม่ แล้วจำเลยที่ 2 จะหันไปถามสิบตำรวจโทประดิษฐ์ว่ามาจากไหน เมื่อได้รับคำตอบจากสิบตำรวจโทประดิษฐ์ว่า “ไอ้รุ่งร้านยางบ้านโคกตายอให้มาซื้อของ” จำเลยที่ 2 จึงตอบจำเลยที่ 1 ไปว่า “ไว้ใจได้ ขายเขาไปเถอะ” ก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าอำนาจตัดสินใจในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะอยู่กับจำเลยที่ 2 การตัดสินใจซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและการตกลงราคายังขึ้นอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้นนอกจากนี้ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องในการยึดถือหรือครอบครองดูแลหรือร่วมเป็นเจ้าของเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนด้วย เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้มามอบให้สิบตำรวจโทสุริยา และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากสิบตำรวจโทสุริยาเอง การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงยังม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องโจทก์แต่การที่จำเลยที่ 2 ตอบจำเลยที่ 1 ไปว่า “ไว้ใจได้ ขายเขาไปเถอะ” ย่อมเป็นการพูดเพื่อช่วยในการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 ในอันที่จะขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สิบตำรวจโทสุริยาที่ปลอมตัวเป็นสายลับไปขอซื้อให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ได้ เนื่องจากเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มาทั้งหมดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า การมีเมทแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัมขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ในมาตรา 15 วรรคหนึ่ง คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน และมิได้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของความผิดจึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสอง ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปีหรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท สำหรับคดีนี้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีจำนวน 12 เม็ด และจำเลยที่ 1 จำหน่ายโดยมีจำเลยที่ 2 ให้การสนับสนุนในการจำหน่ายจำนวน 1 เม็ด กรณีโทษจำคุกต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
นอกจากนี้ แม้ก่อนคดีนี้จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 12 เดือน ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 386/2541 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ตามแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ที่บัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนี้ เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้พ้นไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้ แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 4 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 4 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1667/2541 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษในคดีนี้เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share