แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้อง พลทหาร ณ. จำเลย ซึ่งเป็นทหารกองประจำการ สังกัด กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๔ กองพลทหารราบที่ ๔ กองทัพบก ว่าได้กระทำความผิดอาญาฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารหรือศาลยุติธรรม เห็นว่า หลักการพิจารณาเขตอำนาจของศาลทหารในเวลาปกติที่ยึดหลักเขตอำนาจศาลเหนือตัวบุคคลผู้กระทำผิด ซึ่งหากปรากฏว่าจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ ในขณะกระทำความผิดอาญา จะเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามมาตรา ๑๓แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น เป็นหลักการพิจารณาเขตอำนาจศาลทหารในกรณีที่มีการฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาทั่วไป ที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้คดีอาญานั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอื่นใดโดยเฉพาะ เมื่อปรากฏว่า ภายหลังจากพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ ใช้บังคับ มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีอาญาและคดีแพ่งทั่วไป ได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาซึ่งมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีบุคคลภายนอกที่มีความรู้และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมพิจารณาและพิพากษาคดีด้วยตามเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมาตรา ๗ บัญญัติว่า “ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้ (๑) คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร” อันเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีประเภทหนึ่งประเภทใดไว้โดยเฉพาะ และเป็นบทบัญญัติที่ตัดอำนาจศาลอื่นไม่ให้พิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร เมื่อคดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งแม้จะเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำความผิด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าโดยมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ.๒๕๓๙ มาตรา ๗ บัญญัติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้