คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พยานบอกเล่าเป็นเพียงพยานที่มีน้ำหนักน้อยเท่านั้น แต่ไม่ใช่พยานที่กฎหมายห้ามมิให้รับฟัง เมื่อพยานบอกเล่านั้นสมเหตุผลและมีพยานอื่นสนับสนุน ก็เป็นพยานที่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังได้ ผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์โดยทำหนังสือสัญญากู้ เมื่อหนี้ถึงกำหนดผู้ตายได้โอนขายที่ดินบางส่วนให้โจทก์เป็นการหักกลบลบหนี้ดังนี้ผู้ตายย่อมหลุดพ้นจากหนี้ตามหนังสือสัญญากู้นั้น การนำสืบการหักกลบลบหนี้นั้นไม่ต้องมีหลักฐานการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเจริญ ชูพุทธพงษ์ ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ตามสัญญากู้ 2 ฉบับ รวม 30,000 บาทโดยได้นำโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมานายเจริญถึงแก่กรรมจำเลยทั้งสองเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและครอบครองมรดกของผู้กู้อยู่ในขณะนี้ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองให้การว่า นายเจริญ ชูพุทธพงษ์จะได้กู้เงินจากโจทก์จริงหรือไม่ ไม่รับรอง หากกู้จริงก็ได้ชำระหนี้แล้วโดยการโอนที่ดินบางส่วนตามโฉนดเลขที่ 3404ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นทายาทและไม่ได้รับมรดก ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับให้ยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของพระภิกษุวันจิตสมสุข และคำเบิกความของนายจุล ชูพุทธพงษ์เป็นพยานบอกเล่าเพราะไม่ทราบแน่ชัดว่านายเจริญได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์หรือไม่ นายเจริญ พูดจริงหรือไม่ มิควรที่จะรับฟังเพื่อหักล้างพยานเอกสารคือสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้อง อันถือได้ว่าเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้นเห็นว่า ศาลอุทธรณ์มิได้รับฟังแต่เฉพาะคำเบิกความของพระภิกษุวันและนายจุลเท่านั้น แต่ฟังคำเบิกความของพยานทั้งสองประกอบกับพยานหลักฐานอย่างอื่นอีกด้วย กล่าวคือ นายเจริญได้ให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินของนายเจริญเป็นจำนวน1,200 ส่วน ซึ่งปรากฏในโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 โจทก์เองก็ยอมรับว่าได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายเจริญในราคา 94,000 บาทซึ่งเป็นจำนวนเงินมากกว่าหนี้ที่นายเจริญมีต่อโจทก์เกือบสามเท่าโฉนดที่ดินที่นายเจริญให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ก็คืนให้แก่นายเจริญทั้งการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และนายเจริญทำขึ้นภายหลังที่หนี้ตามสัญญากู้ฉบับหลังถึงกำหนดชำระแล้ว และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้นายเจริญชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรกในวันที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จากพยานหลักฐานดังกล่าวศาลอุทธรณ์จึงรับฟังว่า นายเจริญได้เล่าให้พระภิกษุวันฟังว่า นายเจริญได้กู้เงินโจทก์และได้โอนขายที่ดินชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ดังที่พระภิกษุวันเบิกความและเชื่อว่านายเจริญได้ให้นายจุลไปรับรู้ว่าได้มีการหักกลบลบหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์กับนายเจริญแล้วดังที่นายจุลเบิกความและจากพยานหลักฐานดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่นายเจริญ โดยไม่ได้หักกับหนี้เงินกู้ดังที่โจทก์นำสืบ พยานบอกเล่าเป็นเพียงพยานที่มีน้ำหนักน้อยเท่านั้น แต่ไม่ใช่พยานที่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเมื่อพยานบอกเล่านั้นสมเหตุผลและมีพยานอื่นสนับสนุน ก็เป็นพยานที่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังได้ ศาลอุทธรณ์มิได้รับฟังพยานบอกเล่าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกา ที่โจทก์ฎีกาว่าการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ถ้ามีการชำระหนี้เงินกู้แล้วก็ต้องมีการแทงเพิกถอนลงในสัญญากู้ฉบับนั้น ๆ หรือมีการเวนคืนสัญญากู้ให้แก่ผู้กู้ไป หรือมีหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ให้กู้มาแสดงให้เห็นว่าผู้ให้กู้ได้รับชำระเงินนั้น ๆ แล้ว เมื่อสัญญากู้ทั้งสองฉบับอยู่กับโจทก์ โดยไม่มีการแทงเพิกถอนและไม่มีหลักฐานที่ลงลายมือชื่อโจทก์มาแสดงว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้แล้ว ก็ต้องถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้นั้นเห็นว่า ตามฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องของพยานหลักฐานที่แสดงว่ามีการชำระหนี้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่คดีนี้เป็นเรื่องหักกลบลบหนี้เพราะปรากฏว่าหนี้ที่นายเจริญมีต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ทั้งสองฉบับนั้น เป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้ว และโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระค่าที่ดินที่ซื้อจากนายเจริญ จึงทำการหักกลบลบหนี้กันได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ไม่ได้ชำระหนี้ค่าที่ดินให้แก่นายเจริญ จึงแสดงว่าโจทก์ได้ตกลงหักกลบลบหนี้กับนายเจริญแล้ว นายเจริญจึงหลุดพ้นจากหนี้ตามหนังสือสัญญากู้ทั้งสองฉบับนั้น การหักกลบลบหนี้นั้นไม่ต้องมีหลักฐานการชำระหนี้ดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาโจทก์นอกจากนี้ซ้ำซ้อนกับที่ได้วินิจฉัยมาแล้วและไม่มีสาระอันควรแก่การวินิจฉัยจึงไม่วินิจฉัยให้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share