คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5777/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนและจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่จะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางพิเศษฯตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา10วรรคหนึ่งไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อขณะทำสัญญาดังกล่าวพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯซึ่งกำหนดให้จำเลยที่1เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนได้สิ้นผลบังคับแล้วเพราะหมดอายุฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวย่อมสิ้นผลไปด้วยสัญญาซื้อขายนั้นย่อมไม่มีผลใช้บังคับการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงต้องดำเนินการใหม่เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14659ซึ่งถูกเวนคืน โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินของโจทก์อยู่ในแหล่งชุมชนที่เจริญแล้วมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าตารางวาละ60,000 บาท จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาโจทก์ได้รับแจ้งว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้แก่โจทก์ และไม่เพิ่มค่าทดแทนให้แก่โจทก์อีก โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นจากเดิมตารางวาละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 146,640 บาทกับค่าขาดประโยชน์เป็นดอกเบี้ยประเภทฝากประจำกับธนาคารออมสินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินกัน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2535 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,529,965 บาท รวมเป็นเงิน 168,169,965 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 168,169,965 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี ของต้นเงิน 146,640,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่าไม่มีการพัฒนาและไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะที่โจทก์อ้างว่าราคาตารางวาละ 60,000 บาท เป็นราคาที่เกิดจากความพอใจของคู่กรณีแต่ละราย มิใช่ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติทั้งโจทก์มิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันเมื่อใดจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยเพราะจำเลยทั้งสองมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัด และดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินก็ไม่ถึงร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 สิ้นผลบังคับตั้งแต่วันที่ 17มิถุนายน 2535 การที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ลงนามแทนจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับโจทก์ตามเอกสารหมายจ.1 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2535 ซึ่งเป็นเวลาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 เริ่มใช้บังคับมิใช่เป็นการลงนามในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่สัญญาซื้อขายตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และไม่ใช่สัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวและไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจนกว่าจำเลยจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 เสียก่อน พิพากษายกฟ้อง
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 14659 ตำบลสามเสนนอก (สามเสนนอกฝั่งเหนือ)อำเภอบางกะปิ (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 9 ไร่ 66 ตารางวาซึ่งอยู่ในเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวาเขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายพระโขนง-หัวลำโพง-บางซื่อ และสาธร-ลาดพร้าว ซึ่งมีอายุ5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน2535 ตามเอกสารหมาย ล.3 คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตพระโขนง เขตยานนาวาเขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเขตพระนคร เขตดุสิต เขตบางเขน เขตพญาไท และเขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 953/2534ตามเอกสารหมาย ล.4 กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตารางวาละ 20,000 บาท และจำเลยที่ 1 โดยผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับโจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันวันที่20 สิงหาคม 2535 ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.1อันเป็นระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวหมดอายุแล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 โดยผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับโจทก์ตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เอกสารหมาย จ.1 มีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สายสาธร-ลาดพร้าว(บริเวณโรงซ่อมบำรุง) กรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการดำเนินการกำหนดค่าทดแทนและจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ที่จะถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่ใช่การตกลงซื้อขายกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขั้นตอนนี้กำหนดไว้ในมาตรา 10 วรรคหนึ่งว่า ในระหว่างใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจตกลงซื้อขาย และกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อดำเนินการจัดซื้อและจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวต่อไป แต่จะให้ราคาหรือค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเกินกว่าราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดไว้ไม่ได้ และมาตรา 4 ให้คำนิยาม”เจ้าหน้าที่” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจหรือบุคคลอื่นใดผู้กระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐซึ่งมีอำนาจในการเวนคืน หรือควบคุมการเวนคืน แต่ขณะทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2530 ซึ่งกำหนดให้จำเลยที่ 1เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชกฤษฎีกานี้ได้สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วเพราะหมดอายุฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับฐานะของคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนในท้องที่เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ พ.ศ. 2530 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 953/2534ตามเอกสารหมาย ล.4 สิ้นสุดลงไปด้วยและราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่คณะกรรมการชุดนี้กำหนดย่อมสิ้นผลไปด้วย ดังนี้สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามเอกสารหมาย จ.1ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยทำในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่แล้ว จึงเป็นการกระทำโดยผู้ปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของมาตรา 10 วรรคหนึ่งย่อมไม่มีผลใช้บังคับการดำเนิน การกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนและจ่ายเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงต้องดำเนินการใหม่เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบทั้งเหตุและผลแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share