คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะบรรยายคำฟ้องโดยตั้งประเด็นกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยการสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่ ช. ผู้คัดค้านในทำนองให้รับผิดฐานละเมิด แต่ในคำฟ้องของโจทก์คงบรรยายฟ้องลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 2 ไม่พิจารณาหลักฐานให้รอบคอบถูกต้องชัดเจนโดยไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 พิจารณาหลักฐานไม่รอบคอบอย่างไรกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างไรโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำขอท้ายคำฟ้องโจทก์ขอเพียงให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการสาขาบางพลี ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1020 ให้แก่โจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานละเมิดแต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 60 ซึ่งโจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 60 กำหนด ด้วยการฟ้อง ช. ผู้คัดค้าน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2
ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 60 บัญญัติให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสั่งการไปตามที่เห็นสมควร จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่ ช. ผู้คัดค้านได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญ คำดี เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่1020 จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐระดับกรม มีจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัดตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 เพื่อนำมาแบ่งแก่ทายาทของนายบุญ แต่จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ที่ 22/2542 ให้ออกโฉนดที่ดินแก่นางชิต เกตุสำอางค์ ผู้คัดค้านซึ่งไม่มีสิทธิตามกฎหมายจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปราศจากความระมัดระวังไม่พิจารณาพยานหลักฐานให้รอบคอบ อันเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ที่ 22/2542เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสองออกโฉนดที่ดินเลขที่1020 แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญ คำดี ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐระดับกรม มีจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัด ตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2541 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุญยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา ตำบลศีรษะจรเข้ กิ่งอำเภอบางเสาธง (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ต่อจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นที่ดินของนายบุญเจ้ามรดกซึ่งตกทอดแก่ทายาท จำเลยที่ 2 สั่งการให้เจ้าหน้าที่รังวัดดำเนินการรังวัดที่ดินตามคำขอของโจทก์แต่มีนางชิต เกตุสำอางค์ คัดค้านการรังวัดทั้งแปลงอ้างว่าตนครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2505 จำเลยที่ 2 ให้โจทก์และนางชิตเจรจาทำความตกลงกัน แต่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยที่ 2 สอบสวนเปรียบเทียบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วมีคำสั่งที่ 22/2542 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2542 ให้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นางชิตผู้คัดค้าน หากโจทก์ไม่พอใจให้ไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง หากไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาให้ออกโฉนดที่ดินแก่นางชิต โจทก์ฎีกาประการแรกว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้พิจารณาหลักฐานโดยรอบคอบเป็นการใช้ดุลพินิจในทางที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโจทก์มิได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วมีคำพิพากษานั้นเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายคำฟ้องโดยตั้งประเด็นกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยการสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่นางชิตผู้คัดค้านในทำนองให้รับผิดฐานละเมิดก็ตาม แต่ในคำฟ้องของโจทก์คงบรรยายฟ้องลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 2 ไม่พิจารณาหลักฐานให้รอบคอบถูกต้องชัดเจนโดยมิได้บรรยายข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 พิจารณาหลักฐานไม่รอบคอบอย่างไร กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังอย่างไรรวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลวันเวลาและสถานที่ที่เกี่ยวข้องตามสมควร ความเสียหายที่อ้างว่าได้รับก็มีเพียงโจทก์ไม่ได้รับโฉนดที่ดินไปแบ่งปันให้แก่ทายาทของนายบุญ ส่วนจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะใด โจทก์มิได้บรรยายไว้เช่นกันนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำขอท้ายคำฟ้องโจทก์ขอเพียงให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของสำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาบางพลี ที่ 22/2542 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองออกโฉนดที่ดินเลขที่ 1020 ตำบลศีรษะจรเข้ กิ่งอำเภอบางเสาธง (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน12 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานละเมิด แต่มีลักษณะเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 60 นั่นเอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 กำหนดให้ฝ่ายที่ไม่พอใจไปดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง กรณีดังกล่าวหมายถึงให้คู่กรณีฟ้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาเกี่ยวด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน โดยเจ้าพนักงานที่ดินจะรอเรื่องการออกโฉนดไว้ในระหว่างนั้น เมื่อศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งถึงที่สุดประการใด จำเลยทั้งสองต้องปฏิบัติตามในชั้นนี้โจทก์ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60กำหนด ด้วยการฟ้องนางชิตผู้คัดค้านโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 2 ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2534 ระหว่างนางพรทิพย์ วิพันธ์ โจทก์นายสุจินต์ ตินทุกะสิริ จำเลย ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 2 มีอำนาจเพียงสั่งการให้โจทก์และนางชิตไปดำเนินการฟ้องต่อศาลเมื่อศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของใครจำเลยที่ 2 จึงจะดำเนินการต่อไป จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่นางชิตการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 60 บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจสั่งการไปตามที่เห็นสมควร จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่นางชิตได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share