คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างแล้วว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 จึงย่อมไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่อ้างว่าเกิดแก่ที่ดินที่โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของได้
โจทก์ที่ 1 ทำโครงการก่อสร้างอาคารในที่ดินโจทก์ที่ 1 ในนามบริษัทของโจทก์ที่ 1 ดังนั้น หากจะเกิดความเสียหายก็เป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ที่ 1 หรือบริษัทของโจทก์ที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 2 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดรายได้จากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองมีโครงการก่อสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ที่ ๑ แต่ทางเข้าออกมีความกว้างเพียง ๘ เมตร จึงตกลงจะซื้อที่ดินของจำเลยบางส่วน เพื่อขยายทางเข้าออกโครงการให้เป็นถนนกว้าง ๑๒ เมตร โจทก์ทั้งสองจึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ ๑ ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ตกลงให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินเพื่อออกโฉนดใหม่ในนามเดิม จำเลยมีหน้าที่ต้องลงชื่อยื่นคำร้อง ให้ถ้อยคำและให้ความร่วมมือในการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้วางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยแล้ว ราคาส่วนที่เหลือจะชำระให้เมื่อได้แบ่งแยกที่ดินแล้วเสร็จ ในการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน จำเลยไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการ แต่ได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินในนามเดิม ซึ่งโจทก์ที่ ๒ ได้ให้ความร่วมมือกับนายประสาตร์ตลอดมา แต่ไม่สามารถรังวัดแบ่งแยกออกโฉนดใหม่ให้เสร็จตามกำหนดในสัญญาได้ จำเลยกระทำผิดสัญญา โดยขอยกเลิกการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและตกลงขายที่ดินให้แก่ผู้อื่น ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินไปยื่นขอรังวัดแบ่งแยกแล้วออกโฉนดที่ดินใหม่ เมื่อแบ่งแยกเสร็จให้จำเลยโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยหักเงินมัดจำออกจากราคาที่ดินทั้งหมดก่อน หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ที่ ๑ มิได้เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายที่ดินกับจำเลย จำเลยตกลงซื้อขายที่ดินกับโจทก์ที่ ๒ ตามสัญญาการแบ่งแยกที่ดินเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินการติดต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๓ เดือน แต่โจทก์ที่ ๒ กลับประวิงเวลาในการดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดมา เป็นเหตุให้การรังวัดที่ดินไม่สามารถกระทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดได้ ซึ่งเป็นความผิดของโจทก์ที่ ๒ จึงถือว่าฝ่ายโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์ที่ ๒ กับจำเลยเลิกกันแล้ว โจทก์ที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดิน โอนกรรมสิทธิ์ และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย รวมทั้งเงินมัดจำจากจำเลย เพราะมิได้เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นายประสาตร์ เหนี่ยงแจ่ม ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ ๕๐,๐๐๐ บาท แทนจำเลย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๕๓๕๓ เนื้อที่ ๔๐ ตารางวา ออกโฉนดใหม่และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ ๒ โดยให้จำเลยรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือไว้จากโจทก์ที่ ๒ ถ้าจำเลยไม่ไปจัดการนำรังวัดที่ดินและไม่ไปจัดการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ ๒ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ที่ ๒ โดยกำหนดค่าทนายความรวม ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์ที่ ๑ และจำเลยให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติโดยโจทก์ที่ ๒ และจำเลยมิได้โต้แย้งว่า เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ โจทก์ที่ ๒ ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๕๓๕๓ ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร จากจำเลยบางส่วน เนื้อที่ประมาณ ๔๐ ตารางวา ในราคา ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทโจทก์ที่ ๒ ได้วางเงินมัดจำให้แก่จำเลยเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญากำหนดให้โจทก์ที่ ๒ ไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินโดยจำเลยต้องให้ความร่วมมือในการขอรังวัดแบ่งแยกต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วย แต่จำเลยได้มอบอำนาจให้นายประสาตร์ เหนี่ยงแจ่ม เป็นผู้ไปดำเนินการขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน แล้วไม่สามารถทำให้เสร็จสมบูรณ์ได้ ต่อมาจำเลยยกเลิกเรื่องการขอรังวัดแบ่งแยกที่ดิน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว และต้องไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามสัญญาเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ที่ ๒ ตามสัญญาต่อไป คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ ๒ เพียงว่า โจทก์ที่ ๒ จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายตามฟ้องได้เพียงใดหรือไม่ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ที่ ๒ อ้างว่า หากโจทก์ซื้อที่ดินของจำเลยได้ ที่ดินของโจทก์ด้านในเนื้อที่ ๑,๑๒๔ ตารางวา อันเป็นที่ตั้งโครงการจะมีราคาเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท การที่จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์ไม่ได้รับราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงินถึง ๑๑๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เมื่อหลักฐานปรากฏชัดว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๘๒ มีชื่อโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของ ทั้งโจทก์ที่ ๒ ก็เบิกความว่า การทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยนั้น โจทก์ที่ ๒ ทำในนามของโจทก์ที่ ๒ เอง ไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ ๑ และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลล่างแล้วว่า โจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๒ จึงย่อมไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่อ้างว่าเกิดแก่ที่ดินที่โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของได้ ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดรายได้ที่ควรได้รับคือ ค่าเช่าอาคารเดือนละ ๒๓,๖๑๑,๗๗๐ บาท และค่าจ้างออกแบบอาคารโครงการเป็นเงิน ๘,๓๔๐,๐๙๒ บาท นั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ที่ ๒ ตอบคำถามค้านจำเลยว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นคนติดต่อและจ่ายค่าออกแบบให้แก่สถาปนิก ทั้งโจทก์ที่ ๑ เบิกความด้วยว่า การทำโครงการก่อสร้างอาคารในที่ดินโจทก์ที่ ๑ นั้น ทำในนามของบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเห็นได้ว่า หากจะเกิดความเสียหายดังที่โจทก์ที่ ๒ อ้างก็เป็นความเสียหายที่เกิดแก่โจทก์ที่ ๑ หรือบริษัทอุบลศรีการเคหะ จำกัด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ ๒ แต่อย่างใด โจทก์ที่ ๒ จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยเช่นกัน
ประเด็นสุดท้ายที่โจทก์ที่ ๒ ฎีกาทำนองว่าจำเลยต้องคืนเงินมัดจำ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๒ นั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาให้โจทก์ที่ ๒ โดยจำเลยรับชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากโจทก์ที่ ๒ ย่อมหมายความว่าให้โจทก์ที่ ๒ หักเงินมัดจำ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ที่จำเลยรับไปแล้วก่อน โจทก์ที่ ๒ จึงหาได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเห็นควรให้เป็นพับ.

Share