คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597-5598/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 90/30 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นำมาใช้กับการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ได้และแม้มาตรา 90/23 วรรคสอง จะบัญญัติว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นที่สุดก็มีผลเฉพาะในที่ประชุมเจ้าหนี้ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หามีผลถึงชั้นพิจารณาของศาลด้วยไม่ เจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรหรือตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้วภายใต้บังคับมาตรา 90/57(2) ประกอบมาตรา 130(6) สิทธิของกรมศุลกากรและกรมสรรพกรเจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในหมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 56 และมาตรา 77 มาใช้โดยอนุโลมได้
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่เจ้าหนี้รายที่ 285 อุทธรณ์คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และมิใช่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 264 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยกฎหมายและศาลย่อมสามารถใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้
เจ้าหนี้ได้ยกปัญหาที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 หรือไม่ ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่เป็นไปตามลำดับกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ มาในคำร้องคัดค้านแล้ว และปัญหาทั้งสามข้อเป็นเหตุสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24 อย่างใดก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัย ประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยเร็ว ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยปัญหาตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 287 ดังกล่าวไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน
หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผน ตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผน มิใช่พิจารณาแต่เพียงตรวจสอบรายการต่าง ๆว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2) กำหนดว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายถึงให้นำบทบัญญัติมาตรา 130 มาใช้ในคดีฟื้นฟูกิจการเฉพาะเรื่องลำดับการชำระหนี้เท่านั้น กล่าวคือ หนี้รายใดจะต้องชำระก่อนหรือหลังจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กำหนดไว้ในมาตรา 130(1) ถึง (7) แต่ในกรณีฟื้นฟูกิจการนั้นได้มีบทบัญญัติเฉพาะเรื่องกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 ทวิ (3) ด้วยว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม และมาตรา 90/42 ตรี กำหนดว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ดังนั้นหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) มิใช่ว่าเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกันจะต้องแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ในลำดับตามมาตรา 130(7) ออกเป็น 7 กลุ่ม จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 287 อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้ก่อสร้างไม่ถือว่าข้อเสนอในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่เท่าเทียมกัน แต่สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 287 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 4 ชอบที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน จะนำสิทธิของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเปรียบเทียบหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าในการประชุมเจ้าหนี้ (คราวที่ได้เลื่อนมา) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่มีการแก้ไขแล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดวันพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56

เจ้าหนี้รายที่ 285 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า กรมศุลกากรได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าเป็นเงิน 8,551,993.04 บาท ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการจัดให้กรมศุลกากรอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 และได้รับชำระหนี้เพียงร้อยละ 80 และไม่ได้รับเงินภาษีอากรในส่วนของเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ทวิ มาตรา 89 ตรี ซึ่งบัญญัติให้เงินเพิ่มเป็นเงินภาษีและตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 112 ตรี และมาตรา 112 จัตวา ซึ่งบัญญัติให้เงินเพิ่มเป็นเงินอากร กรมศุลกากรเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ภาษีอากรซึ่งลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายการจะลดเงินภาษีหรืองดเงินเพิ่มจะทำได้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และประมวลรัษฎากรเท่านั้น การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้กรมศุลกากรได้รับชำระหนี้ภาษีอากรเพียงร้อยละ 80 ของเงินภาษีที่ลูกหนี้ค้างชำระ จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอันเป็นกฎหมายมหาชน แผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ

เจ้าหนี้รายที่ 287 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ไม่ได้แสดงรายการอันเป็นสาระสำคัญเพื่อให้ศาลได้พิจารณาแผนอย่างครบถ้วนคงแสดงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของลูกหนี้ไว้อย่างย่อ ๆ เจ้าหนี้ไม่อาจทราบได้ว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไร มีมูลค่าเท่าใด ทรัพย์สินใดมีภารจำนอง และทรัพย์สินใดไม่มีภารจำนอง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ผู้ทำแผนต้องเปิดเผยให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ทำแผนผู้บริหารแผนหรือลูกหนี้ทำการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินขัดต่อมาตรา 90/12(9) หรือไม่ ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนไม่เป็นไปตามลำดับตามมาตรา 130 ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้ไม่มีประกันทุกรายจะต้องได้รับการชำระหนี้ตามลำดับตามมาตรา 130(7) อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันออกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 – เจ้าหนี้ทางการเงิน

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 – เจ้าหนี้ก่อสร้าง

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 – เจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิตามสัญญาค้ำประกันกลุ่มที่ 1

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 – เจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิตามสัญญาค้ำประกันกลุ่มที่ 2

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7 – เจ้าหนี้ที่ใช้สิทธิตามสัญญาค้ำประกันกลุ่มที่ 3

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 – เจ้าหนี้การค้า

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 – เจ้าหนี้อื่น ๆ ตามบทบัญญัติมาตรา 130(7) เจ้าหนี้ไม่มีประกันทั้งเจ็ดกลุ่มข้างต้นจะต้องได้รับชำระหนี้อย่างเท่าเทียมกัน แต่ผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มที่ 4 และกำหนดให้ได้รับชำระหนี้ด้วยจำนวนและเงื่อนไขด้อยกว่าเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 กล่าวคือเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้และบริษัทในกลุ่มของลูกหนี้เป็นเงินเพียง 4,180,000 บาท หรือเท่ากับร้อยละ 19.35 ของหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และจะเริ่มผ่อนชำระตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 7 นับแต่วันที่สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีผลใช้บังคับ และจะได้รับชำระหนี้ด้วยหุ้นของลูกหนี้ตามมูลค่าที่ตราไว้เท่ากับ 8,924,000 บาท หรือเท่ากับร้อยละ41.25 ของหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งหากพิจารณาถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นแล้วไม่มีมูลค่า เจ้าหนี้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำสัญญากับลูกหนี้โดยรับเป็นผู้จัดหาช่างก่อสร้างและกรรมกรมาดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลพญาไท 3 ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2537 ท้ายคำร้องคัดค้าน ลักษณะการว่าจ้างเป็นการรับเหมาค่าแรง จึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวพันกับแรงงานโดยตรง ลูกหนี้ย่อมมีส่วนต้องรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างในฐานะนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเจ้าหนี้ได้ทดรองจ่ายค่าจ้างเพื่อต้องการให้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดบริการแก่ประชาชนทันกำหนดในปี 2540 ถือได้ว่ามูลหนี้ที่เจ้าหนี้เรียกร้องในคดีนี้เป็นหนี้บุริมสิทธิตามมาตรา 130(6) นอกจากนี้แผนฟื้นฟูกิจการจัดให้กรมศุลกากรและกรมสรรพากรอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 ได้รับชำระหนี้ถึงร้อยละ 80 ของหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และจะได้รับชำระคืนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ แผนฟื้นฟูกิจการยังจัดให้เจ้าหนี้รายบริษัทไพร์วอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ส เอ็กเซ้คคูทีฟ รีครูทเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับผู้ทำแผนอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 จัดให้ผู้ทำแผนอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 และจัดให้บริษัทในเครือของผู้ทำแผนได้แก่ บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 10 ซึ่งได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จึงแตกต่างอย่างไม่เป็นธรรมตามลำดับการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายตามมาตรา 130(7) อย่างชัดแจ้ง และแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเพราะผู้ทำแผนไม่จัดทำประมาณการทางการเงินให้ปรากฏรายละเอียดและมีสมมุติฐานเพียงพอให้เจ้าหนี้และศาลเชื่อได้ว่าลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ในภาคผนวก 18และตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างกรณีล้มละลายกับการฟื้นฟูกิจการในภาคผนวก 12 ก็ไม่น่าเชื่อถือ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนปรับปรุงแผนให้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ร้อง หากไม่อาจทำให้หรือผู้ทำแผนไม่ยอมทำขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้กรมศุลกากรเจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงตามมาตรา 90/30 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เจ้าหนี้รายที่ 285 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงที่จะคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ต่อศาลได้ตามมาตรา 90/57 อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นว่าเจ้าหนี้รายที่ 285 มีสิทธิคัดค้านแผนต่อศาล พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 ประกอบมาตรา 90/27 บัญญัติให้เจ้าหนี้ทุกรายที่มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ รวมถึงหนี้ภาษีอากรทุกประเภทต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ดังนั้น หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต้องเข้าสู่กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เช่นเดียวกันมาตรา 90/42 ทวิ, 90/42 ตรี และมาตรา 90/58 มิได้บัญญัติเฉพาะเจาะจงให้เจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นเจ้าหนี้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดต่างหากจากเจ้าหนี้รายอื่นหรือมีเงื่อนไขยกเว้นไม่ให้เจ้าหนี้ภาษีอากรต้องผูกพันตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ หากกฎหมายประสงค์จะยกเว้นหนี้ภาษีอากรในกรณีใดย่อมต้องบัญญัติไว้ต่างหาก ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 130 และกฎหมายในส่วนคดีฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินย่อมอยู่ในภาวะที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอชำระให้แก่เจ้าหนี้ได้เต็มจำนวนทุกราย หากไม่มีกฎหมายส่วนคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เจ้าหนี้รายที่ 285 ก็ไม่อาจจัดเก็บภาษีอากรจากลูกหนี้ที่อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวได้ การที่หนี้ภาษีอากรจะต้องถูกตัดหรือปรับลดก็ยังได้รับชำระหนี้มากกว่ากรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย และแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ส่วนที่ 3 ข้อ 4 หน้า 16 มีตารางแสดงรายละเอียดของทรัพย์สินและหนี้สินของลูกหนี้ ณ วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ส่วนเจ้าหนี้รายที่287 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าแรงงานก่อสร้างซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนคงที่(FIX COST) แต่มูลหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนแปรผัน (AVAILABLECOST) ดังนั้น มูลหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงมีลักษณะก้ำกึ่งทั้งเจ้าหนี้ในส่วนการลงทุนและเจ้าหนี้การค้าทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อแผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายนี้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว หากเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่มดังกล่าวไม่เป็นไปตามมาตรา 90/42 ทวิวรรคหนึ่ง อาจยื่นคำขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคท้าย แต่เจ้าหนี้รายนี้หาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ต่อศาลแต่ประการใด

ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า เจ้าหนี้รายที่ 285 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเนื่องจากเจ้าหนี้มิได้เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 จึงขาดคุณสมบัติตามมาตรา 90/57 ที่จะยื่นคำร้องคัดค้านแผนได้ มาตรา 90/42(3) (ข) มาตรา 90/58 และมาตรา 130 บัญญัติว่า กลุ่มเจ้าหนี้ในกลุ่มเดียวกันจะต้องได้รับการชำระหนี้เท่าเทียมกันและการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายล้มละลายกำหนดไว้ด้วย เจ้าหนี้รายที่ 285 ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 และแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 8 ได้รับชำระหนี้เท่าเทียมกันทุกราย แม้หนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากร แต่ในกรณีเป็นคดีฟื้นฟูกิจการได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษอยู่แล้ว จะนำประมวลรัษฎากรมาปรับใช้แก่กรณีฟื้นฟูกิจการหาได้ไม่ ที่เจ้าหนี้รายที่ 287 อ้างว่าแผนฟื้นฟูกิจการมีรายการไม่ครบถ้วนในส่วนรายละเอียดของทรัพย์สินของหนี้สินของลูกหนี้นั้นแผนฟื้นฟูกิจการได้มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์และหนี้สินไว้แล้วตามสมควรโดยระบุอยู่ในแผนส่วนที่ 3 มาตรา 90/42(2) คำว่า รายละเอียดแห่งสินทรัพย์และหนี้สินมีความหมายแตกต่างจากคำว่า “บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่” ในมาตรา 90/6 วรรคสี่ แผนไม่จำต้องระบุรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละรายการของสินทรัพย์ หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ นอกจากนี้ในขณะที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ก็ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่ต่อศาลตามมาตรา 90/6 วรรคสี่ แล้ว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ผู้บริหารของลูกหนี้มีหน้าที่ตามมาตรา 90/21 วรรคสาม ที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน หนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ทำแผนไม่อาจทำการโอนถ่ายทรัพย์สินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 90/12(9) เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์บรรดาเจ้าหนี้สามารถตรวจสอบการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามเวลา และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ผู้บริหารแผนยังมีหน้าที่จัดทำรายงานปฏิบัติตามแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบทุกรอบไตรมาส แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงมีรายการครบถ้วนตามกฎหมายกำหนดแล้ว ที่เจ้าหนี้รายที่ 287 อ้างว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันทุกรายจะต้องได้รับข้อเสนอการชำระหนี้ในลำดับตามมาตรา 130(7) นั้น แม้เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3 ถึงกลุ่มที่ 10 จะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหนี้อื่นตามมาตรา 130(7) เหมือนกัน และมาตรา 90/58(2) กำหนดให้ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายมาใช้กับกรณีฟื้นฟูกิจการด้วยก็ตาม กรณีดังกล่าวเป็นการนำบทบัญญัติในเรื่องลำดับการได้รับชำระหนี้ก่อนหลังของหนี้แต่ละประเภทมาใช้บังคับการเสนอชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการเท่านั้น มิได้ให้นำมาใช้ในเรื่องของการกำหนดจำนวนหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันในแต่ละกลุ่มจะต้องได้รับชำระหนี้เท่ากันแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการได้มีบทบัญญัติเฉพาะตามมาตรา 90/42 ทวิ(3) ที่กำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการสามารถจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันได้หลายกลุ่ม โดยเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันตามมาตรา 90/42 ตรี ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการที่ได้ระบุให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันในแต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้แตกต่างกันจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย การจัดทำประมาณการทางการเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ผู้ทำแผนได้จัดทำด้วยความรอบคอบและระมัดระวังตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของผู้ทำแผนซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกการจัดทำประมาณการทางการเงินดังกล่าว ผู้บริหารของลูกหนี้ได้ร่วมกันจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับประมาณการรายได้และรายจ่ายของลูกหนี้ให้แก่ผู้ทำแผนเพื่อจัดทำประมาณการทางการเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการภาคผนวก 18 สำหรับนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างกรณีล้มละลายกับการฟื้นฟูกิจการในภาคผนวก 12 นั้น ผู้ทำแผนได้คำนวณมาจากข้อมูลที่ได้จัดทำโดยผู้ประเมินอิสระที่มีชื่อเสียงคือ บริษัทอเมริกันแอ๊พเพรซัล(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งไม่ได้มีส่วนได้เสียในผลของการประเมินและผู้ประเมินเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการประเมินโดยตรง ทั้งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการประเมินราคาทรัพย์สิน ข้อมูลดังกล่าวจึงเชื่อถือได้ ตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนในภาคผนวก12 ถือว่าครบถ้วนเพียงพอ ประกอบกับเจ้าหนี้ที่มีจำนวนหนี้ร้อยละ 88.71 มีมติยอมรับแผน ทำให้เชื่อได้ว่าหากดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ขอศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58

เจ้าหนี้รายที่ 285 และเจ้าหนี้รายที่ 287 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 285 ประการแรกว่า เจ้าหนี้รายที่ 285 มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตามมาตรา 90/57 หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และผู้ทำแผนแก้อุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 285 ในทำนองเดียวกันว่า เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้รายที่ 285 จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 90/30 ไม่อาจคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลตามมาตรา 90/57 ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/30 บัญญัติว่า “คำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายใด… ถ้ามีผู้โต้แย้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนโดยด่วนแล้วมีคำสั่งว่าจะให้เจ้าหนี้รายนั้นออกเสียงในจำนวนหนี้ได้หรือไม่เท่าใดและให้นำความในมาตรา 90/23 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนำมาใช้กับการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงในการประชุมเจ้าหนี้ได้ อย่างไรก็ตามแม้มาตรา 90/23 วรรคสอง จะบัญญัติว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวให้เป็นที่สุด โดยให้มีผลเฉพาะให้เจ้าหนี้มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้หรือไม่เท่านั้น… ดังนั้นคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้เจ้าหนี้รายที่ 285 งดออกเสียงในที่ประชุมคงมีผลเฉพาะในที่ประชุมเจ้าหนี้ซึ่งเป็นการดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หามีผลถึงชั้นพิจารณาของศาลด้วยไม่ ทั้งนี้เพราะในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของศาล มาตรา 90/57 บัญญัติว่า “ในการพิจารณาแผน ให้ศาลพิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ทำแผน รวมทั้งข้อคัดค้านของลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิออกเสียงตามมาตรา 90/30 ซึ่งไม่ได้ลงมติยอมรับแผน” ดังนั้น เจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางได้ การที่ศาลล้มละลายกลางรับคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้รายที่ 285 ไว้พิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ จึงชอบด้วยมาตรา 90/57

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 285 ประการต่อไปว่า แผนฟื้นฟูกิจการจะปรับลดหนี้ภาษีอากร งดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” และมาตรา 90/60 บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้…” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด ไม่ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรใด ๆ ตามประมวลรัษฎากรหรือตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ก็ตามทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป นอกจากนี้หากกรณีใดซึ่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ต้องการให้หนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือหนี้สามัญหรือประสงค์จะคุ้มครองหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จะบัญญัติไว้โดยชัดเจน อาทิเช่น ผลการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 56 การปลดจากล้มละลายตามมาตรา 77หนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/27 วรรคสาม หนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 130(6) เป็นต้น เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้ว ภายใต้บังคับมาตรา 90/57(2) ประกอบมาตรา 130(6) สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 285 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ในหมวด 3/1 กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 56 และมาตรา 77 มาใช้โดยอนุโลมได้ดังที่เจ้าหนี้รายที่ 285 กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 285 ประการสุดท้ายว่า แผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ นั้น เห็นว่า แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2541 หมวด 3/1 การที่เจ้าหนี้รายที่ 285 อุทธรณ์คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และมิใช่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามมาตรา 264 เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 35 – 36/2544 ว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยกฎหมายและศาลย่อมสามารถใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้รายที่ 287 มีว่าศาลล้มละลายกลางมิได้หยิบยกปัญหาตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 287 ที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42 หรือไม่ ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไม่เป็นไปตามลำดับกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ แต่ศาลล้มละลายกลางกลับวินิจฉัยเป็นเรื่องการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ กรณีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คดีนี้ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้รายที่ 287 ได้ยกปัญหาทั้งสามข้อดังกล่าวมาในคำร้องคัดค้านแล้ว และเมื่อปัญหาทั้งสามข้อเป็นเหตุสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางไม่ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24 อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอุทธรณ์ขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัย ประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามข้อคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 287 ดังกล่าวไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยก่อน

ในปัญหาว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 หรือไม่เห็นว่า กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการนั้น หลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามมาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบทบัญญัติในส่วนที่ 8 ว่าด้วยการพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบดุลพินิจให้ตรวจสอบว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจตรวจสอบถึงเนื้อหาของแผนตลอดจนโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผน มิใช่พิจารณาแต่เพียงตรวจสอบรายการต่าง ๆ ว่ามีครบถ้วนตามรูปแบบหรือไม่ จากการที่ศาลฎีกาได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนในคดีนี้แล้ว มีรายละเอียดในแผนตั้งแต่ส่วนที่ 2 เหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ถึงส่วนที่ 15 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายรวมตลอดทั้งเอกสารที่แนบมากับแผน แผนฟื้นฟูกิจการมีรายการและรายละเอียดครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ประกอบมาตรา 90/58(1) และวรรคสอง แล้ว

ปัญหาต่อไปว่า ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแก่เจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามมาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ เจ้าหนี้รายที่ 287 อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้รายที่ 287 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 4 แต่ไม่ได้รับการชำระหนี้เท่าเทียมกับเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 8 และที่ 10 ซึ่งจัดอยู่ในประเภทหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) ลำดับเดียวกันกับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เห็นว่า ในกรณีฟื้นฟูกิจการแม้มาตรา 90/58(2) กำหนดว่าข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้น หมายถึงให้นำบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 130 มาใช้ในคดีฟื้นฟูกิจการเฉพาะเรื่องลำดับการชำระหนี้เท่านั้น กล่าวคือ หนี้รายใดจะต้องชำระก่อนหรือหลังจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กำหนดไว้ในมาตรา 130(1) ถึง(7) แต่ในกรณีฟื้นฟูกิจการนั้นได้มีบทบัญญัติเฉพาะเรื่องกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 ทวิ(3) ด้วยว่าเจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม และมาตรา 90/42 ตรี กำหนดว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน ดังนั้น หนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) มิใช่ว่าเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกันจะต้องแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อผู้ทำแผนได้จัดให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันซึ่งอยู่ในลำดับตามมาตรา 130(7) ออกเป็น 7 กลุ่ม จัดให้เจ้าหนี้รายที่ 287 อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกัน กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้ก่อสร้าง ส่วนเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 8 เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้ไม่มีประกันกลุ่มที่ 10 เจ้าหนี้ค่าธรรมเนียมวิชาชีพ ฉะนั้น ข้อเสนอของผู้ทำแผนในการชำระหนี้และกำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้ย่อมผิดแผกแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงและเหตุผลไม่ถือว่าข้อเสนอในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่มีประกันไม่เท่าเทียมกันแต่สิทธิของเจ้าหนี้รายที่ 287 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ 4 ชอบที่จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน จะนำสิทธิขอเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเปรียบเทียบกันหาได้ไม่

ปัญหาว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่มีรายละเอียดชัดเจนที่จะแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามมาตรา 90/58(3) หรือไม่ เจ้าหนี้รายที่ 287 อุทธรณ์ว่า ประมาณการทางการเงินที่ผู้ทำแผนจัดทำขึ้นในภาคผนวก 18 มีเพียงหน้าเดียวและในตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างกรณีล้มละลายกับการฟื้นฟูกิจการในภาคผนวก 12 ไม่มีรายละเอียดอันเป็นข้อสมมุติฐานซึ่งเป็นที่มาของตัวเลขให้เห็นว่าหากดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีลูกหนี้ล้มละลาย เห็นว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ย่อมไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีอยู่จะต้องถูกนำออกขายทอดตลาด ซึ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดก็คงจะต่ำกว่าราคาทรัพย์สินที่แท้จริง ส่วนกรณีที่มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ลูกหนี้ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปและจัดหาผลประโยชน์ภายใต้การบริหารของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนซึ่งสามารถนำรายได้จากการประกอบธุรกิจมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูกิจการย่อมทำให้ลูกหนี้มีอนาคตกว่ากรณีที่ต้องล้มละลาย ซึ่งปรากฏจากแผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนลงวันที่ 23 เมษายน 2544 ประกอบกับภาคผนวก 1 ถึงภาคผนวก 18 และรายงานสรุปวิเคราะห์แผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ต้องกันว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ผู้ทำแผนได้คำนวณมาจากข้อมูลซึ่งบริษัทอเมริกันแอ๊พเพรซัล (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งเป็นผู้ประเมินอิสระที่มีชื่อเสียงเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการประเมินราคาทรัพย์สินและไม่มีส่วนได้เสียในคดีนี้ นอกจากนั้นในการจัดทำประมาณการทางการเงิน ผู้บริหารของลูกหนี้ได้เป็นผู้จัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับประมาณการรายได้และรายจ่ายของลูกหนี้ให้แก่ผู้บริหารแผนเพื่อนำมาประกอบการจัดทำประมาณการทางการเงินตามภาคผนวก 18 และ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ลูกหนี้มีสินทรัพย์ 1,501,007,000 บาท แต่ลูกหนี้มีหนี้สิน 12,765,013,000 บาทหนี้สินจึงมีมากกว่าสินทรัพย์ 11,264,006,000 บาท หากนำมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ภายใต้การชำระบัญชีและผลตอบแทนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการที่ปรากฏในภาคผนวก 12

การเปรียบเทียบผลตอบแทนที่คาดว่าเจ้าหนี้จะได้รับจากทรัพย์สินของบริษัทประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน)

เจ้าหนี้สถาบันการเงิน, เจ้าหนี้ค้ำประกัน, เจ้าหนี้ก่อสร้าง เจ้าหนี้มีหลักประกัน (ประมาณการผลตอบแทนภายใต้การชำระบัญชี) 5.68% (ประมาณการผลตอบแทนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ) 21%

เจ้าหนี้สถาบันการเงิน, เจ้าหนี้ค้ำประกัน, เจ้าหนี้ก่อสร้าง เจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน (ประมาณการผลตอบแทนภายใต้การชำระบัญชี) 0.68% (ประมาณการผลตอบแทนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ) 13%

เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน (ประมาณการผลตอบแทนภายใต้การชำระบัญชี) 0.68% (ประมาณการผลตอบแทนภายใต้แ

Share