คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประเมินค่ารายปีสำหรับภาษีโรงเรือนประเภทโรงแรมตามสูตรค่ารายปี เท่ากับ ค่าเช่าห้อง คูณ จำนวนห้อง คูณ 15 ส่วน 100ซึ่งโจทก์มิได้ยอมรับว่าถูกต้อง จะถือว่าเป็นค่ารายปีที่ยุติแล้วไม่ได้ ทั้งข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความก็ไม่ปรากฏว่าจำนวนค่าเช่าปีที่ล่วงมาแล้วและปีที่พิพาทกันที่จะให้เช่าได้นั้นมีราคาแตกต่างกัน จึงต้องนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วกำหนดเป็นค่ารายปีปีที่พิพาท การคืนเงินค่าภาษีส่วนที่ชำระเกินจะต้องคืนภายในกำหนดสามเดือน มิฉะนั้นย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 39 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนฯ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารซึ่งใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม มีห้องพักจำนวน 120 ห้อง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2527จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2527 ให้โจทก์ชำระเป็นเงิน201,450 บาท ภายใน 90 วัน โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง จึงได้ยื่นอุทธรณ์การประเมิน จำเลยที่ 2 ได้ชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์โดยให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนเป็นเงิน 201,450 บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินและคำชี้ขาดอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาว่าใบแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ลงวันที่ 17 พฤษภาคม2527 และใบแจ้งคำชี้ขาดอุทธรณ์ ลงวันที่ 23 กันยายน 2528ไม่ถูกต้องให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บเกินไปจำนวน 103,070 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 คำนวณค่ารายปีใหม่ โดยอาศัยหลักเกณฑ์การคำนวณค่ารายปีสำหรับโรงแรมชั้นหนึ่ง =ค่าเช่า x จำนวนห้อง x 912×15/100 หลักเกณฑ์ดังกล่าวใช้ค่าเช่าขั้นต่ำของห้องพักเดี่ยวของค่าเช่าที่เก็บในปี พ.ศ. 2524 จำนวนห้องละวันก็ได้กำหนดหักลดให้มีการเช่าเพียง 219 วัน ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนอัตรา 15/100 นั้นคิดเป็นค่าเช่าห้องจริงหักค่าใช้จ่ายให้ 85 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากราคาเช่าพักหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงถูกต้องและเป็นธรรม เมื่อคำนวณแล้วเป็นค่าภาษีจำนวน 201,450 บาท โจทก์ไม่ชำระค่าภาษีตามกำหนดจึงต้องเสียเงินเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ของภาษีที่ประเมิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งการประเมินฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2527 ของจำเลยที่ 3 เฉพาะรายการแรกและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามใบแจ้งชี้ขาด ลงวันที่ 23 กันยายน 2528เฉพาะที่เกี่ยวกับการประเมินรายการแรก ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มที่เก็บเกินไปแก่โจทก์ 101,970 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2529จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลักเกณฑ์ในการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 8 และมาตรา 18 จำเลยที่ 1 จะนำเอาเป้าหมายที่ตั้งขึ้นไว้เพื่อเก็บภาษีโรงเรือนให้ได้ในปีใดเท่าใดนั้นมากำหนดค่ารายปีขึ้นเพื่อให้การเก็บภาษีโรงเรือนเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการย่อมไม่ถูกต้อง ค่ารายปีที่จำเลยที่ 1 กำหนดในปี พ.ศ.2527 จำเลยที่ 1 กำหนดโดยคำนวณตามสูตรที่จำเลยที่ 1 คิดขึ้นในเมื่อคำฟ้องและการนำสืบของโจทก์ในคดีนี้ โจทก์มิได้ยอมรับว่าค่ารายปีที่คำนวณตามสูตรเป็นค่ารายปีที่ถูกต้องจึงนับถือว่าจำนวนดังกล่าวเป็นค่ารายปีที่ยุติแล้วไม่ได้ ส่วนค่ารายปีที่พิพาทคดีนี้คือปีพ.ศ. 2527 จะเป็นเท่าใดนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโรงเรือนที่พิพาทโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกรณีเป็นข้อพิพาทกันในเรื่องค่ารายปีสำหรับปี พ.ศ. 2526 ซึ่งยุติแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3278/2532จำนวน 1,182,600 บาท และค่าภาษีสำหรับปี พ.ศ. 2528 ยุติตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1796/2531 จำนวน 1,182,600 บาท ดังนั้นเมื่อพิจารณาค่ารายปีสำหรับปี พ.ศ. 2526 ที่ยุติดังกล่าวประกอบกับหลักเกณฑ์การกำหนดค่ารายปีตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 18 ที่บัญญัติไว้ว่า ให้เอาค่ารายปีของปีที่ล่วงมาเป็นหลัก และข้อเท็จจริงจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏว่าในปีพ.ศ. 2526 และปี พ.ศ. 2527 นั้น จำนวนค่าเช่าที่จะให้เช่าได้นั้นจะมีราคาแตกต่างกันไป จึงกำหนดว่าค่ารายปีที่พิพาทเป็นเงิน1,182,600 บาท จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีสูงเกินไปเป็นการไม่ชอบเมื่อฟังว่าค่ารายปีเป็นเงิน 1,182,600 บาท แล้ว ค่าภาษีโรงเรือนร้อยละสิบสองกึ่งจึงเป็นค่าภาษีจำนวน 147,825 บาท โจทก์จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของภาษีที่ประเมินเป็นเงิน 15,782.50 บาทรวมเป็นค่าภาษีโรงเรือนส่วนที่พิพาทเป็นเงิน 162,607.50 บาท โจทก์ได้ชำระไว้แล้วจำนวน 191,250 บาท จำเลยที่ 1 จะต้องคืนส่วนที่เรียกเก็บเกินไปจำนวน 28,642.50 บาท ภายในสามเดือนโดยไม่คิดค่าอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ถ้าจำเลยไม่คืนหลังจากนั้นก็ตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 คือเงินจำนวน 28,642.50 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันฟังคำพิพากษานี้จนกว่าจะชำระเสร็จ.

Share