แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำฟ้องอุทธรณ์ที่ระบุว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่มีเพียงจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ส่วนทนายความจำเลยทั้งสองลงชื่อมาในช่องเป็นผู้เรียง/พิมพ์ เท่านั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว
จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกา เพราะฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7
จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจาก ป. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 2 จะขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ คดีจึงมีประเด็นตามที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหามาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ต้องรื้อถอนประตูเหล็กและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 18003 เดิมเป็นที่ดินผืนเดียวกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 4172 มีนายแทนเป็นเจ้าของ ต่อมานายแทนถึงแก่ความตาย จึงเป็นมรดกตกทอดสืบต่อแก่ทายาทอื่นและจำเลยทั้งสอง เมื่อปี 2541 จำเลยทั้งสองชักชวนโจทก์ซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนายประกิต พึ่งน้อย ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่มารดา นายประกิตร่วมกับจำเลยทั้งสองในที่ดินโฉนดเลขที่ 4172 ซึ่งมีแนวเขตที่ดินแปลงท้ายสุดด้านทิศใต้ของที่ดินติดกับคลองขุดตากล่อมและยังเป็นที่ดินเป็นผืนเดียวกัน โจทก์เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีทางพิพาทเข้าออกสู่ถนนสาธารณะสายปากท่อสมุทรสงครามกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินประมาณ 150 เมตร ของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นทางภาระจำยอม จำเลยทั้งสองตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวก็มีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก โจทก์เห็นนายประกิตครอบครองที่ดินส่วนของตนและใช้ทางพิพาทกว่าสิบปี จึงตกลงซื้อที่ดินส่วนของนายประกิตเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2542 และลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 4172 ต่อมาโจทก์ขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนและปลูกสร้างบ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 7 ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองเข้าออกสู่ถนนสาธารณะสายดังกล่าวโดยสงบและเปิดเผยตลอดมาโดยจำเลยทั้งสองมิได้คัดค้าน ระหว่างใช้ทางพิพาทโจทก์ได้จ่ายเงินค่าใช้ทางพิพาทนั้น 10,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองขายที่ดินบางส่วนซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์ให้แก่นางสานิตย์ ซึ่งสัญญาซื้อขายระบุให้นางสานิตย์ใช้ทางพิพาทตลอดไป ต่อมาจำเลยทั้งสองย้ายไปปลูกสร้างบ้านในที่ดินของจำเลยทั้งสองด้านทิศเหนือที่ติดกับถนนสาธารณะสายปากท่อ-สมุทรสงคราม แล้วทำประตูเหล็กปิดทางเข้าออกโดยใส่กุญแจไม่ให้โจทก์ผ่านเข้าออกทางพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเข้าบ้านและที่ดินของโจทก์ได้ ต้องไปอาศัยบ้านผู้อื่นอยู่ เสียค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงิน 3,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร ด้านทิศใต้ติดคลองขุดตากล่อมของที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางภาระจำยอม และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนประตูเหล็กออกจากทางพิพาทและให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 3,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอนประตูเหล็กให้ชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจะรื้อถอน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทกว้างประมาณ 4 เมตรยาวประมาณ 150 เมตร ด้านทิศใต้ติดคลองขุดตากล่อมของที่ดินของจำเลยทั้งสองตามรูปแผนที่ซึ่งระบายด้วยสีชมพูเอกสารหมาย จ.3 ตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนประตูเหล็กออกจากทางพิพาท หากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนประตูเหล็ก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนประตูเหล็ก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน และให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 4172 ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามตามเอกสารหมาย จ.2 มีชื่อจำเลยทั้งสองและนายประกิน พึ่งน้อย กับพวกรวม 5 คน ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาวันที่ 4 มกราคม 2542 นายประกิตได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ วันที่ 16 เมษายน 2542 โจทก์ได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของโจทก์ ในที่ดินแปลงดังกล่าวเนื้อที่ 1 ไร่ 42 ตารางวา ออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 18003 ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามเอกสารหมาย จ.1 ทางพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลยทั้งสองมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์สู่ถนนสาธารณะตามแนวเส้นสีชมพูรูปแผนที่ เอกสารหมาย จ.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ในคำฟ้องอุทธรณ์ แม้จะระบุว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ผู้ที่ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์คงมีเพียงจำเลยที่ 2 ลงชื่อมาเพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ด้วย ส่วนทนายความจำเลยทั้งสองลงชื่อมาในช่องเป็นผู้เรียง/พิมพ์ เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มาด้วยนั้น จึงชอบแล้ว
อนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกา เพราะฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เท่านั้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกว่า ทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ก่อนโจทก์ซื้อที่ดินมาจากนายประกิต นายประกิตได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ดินเพื่อมาเก็บผลประโยชน์จากการทำสวนมะพร้าว จำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ไปซื้อที่ดินจากนายประกิต ก่อนซื้อที่ดินโจทก์ได้พูดตกลงกับนายประกิตและจำเลยทั้งสองด้วยวาจาว่าโจทก์สามารถใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกได้ โจทก์ยังมีนางเฉลียวเบิกความสนับสนุนว่า พยานทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนโจทก์มาซื้อที่ดินของนายประกิตใช้ปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออก ส่วนจำเลยทั้งสองมิได้ถามค้านพยานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น เห็นว่าที่ดินของโจทก์ไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ การที่โจทก์ตกลงซื้อที่ดินเฉพาะส่วนของนายประกิตซึ่งเดิมเป็นที่ดินที่นายประกิตและจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วยโดยมีทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองนั้น ข้อเท็จจริงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ซื้อที่ดินจากนายประกิตโดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะได้อย่างเป็นทางภาระจำยอมเพราะโจทก์ต้องการซื้อที่ดินไว้เพื่อปลูกบ้านพักอาศัย หากไม่มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะโจทก์ก็คงจะไม่ซื้อที่ดินดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นทางภาระจำยอม แม้ข้อตกลงจะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเพียงทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์และไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้เท่านั้น แต่ระหว่างคู่กรณียังคงบังคับกันได้ในฐานะบุคคลสิทธิ จำเลยทั้งสองจึงต้องเปิดทางภาระจำยอมและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรื้อถอนประตูเหล็กและไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 จะขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ คดีจึงมีประเด็นตามที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหามาในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ต้องรื้อถอนประตูเหล็กและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่รับวินิจฉัยจึงไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย เห็นว่า การที่จำเลยทั้งสองสร้างประตูเหล็กปิดกั้นบริเวณปากทางพิพาทที่เชื่อมต่อกับถนนสาธารณะย่อมทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางพิพาทเพื่อเข้าออกบ้านของโจทก์สู่ถนนสาธารณะได้โดยสะดวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าหากจำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ยอมรื้อถอนประตูเหล็ก ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท จนกว่าจะรื้อถอนประตูเหล็กออกจากทางพิพาทนั้นนับว่าเป็นค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ